เรื่องราวในดินแดนแห่งความสุข


เรื่องราวในดินแดนแห่งความสุข
ผู้แต่ง: คินเลย์ ดอร์จิ
ผู้แปล: สดใส ขันติวรพงศ์



บทนำตอนหนึ่งในหนังสือ

“ภูฐานจะไม่มีวันเป็นมหาอำนาจทางการทหาร
หรือเป็นพลังทางเศรษฐกิจ พลังของภูฐานอยู่ที่หลักศีลธรรมซึ่ง
ทำให้ราชอาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้ เป็นตัวแทนของอุดมคติใหญ่หลวง นั่นคือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ

การกล้าที่จะเป็นสิ่งที่แตกต่าง และนำเสนอเป้าหมายอันสูงส่ง
เพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติให้โลกได้ประจักษ์
ภูฐานจึงต้องทำให้สิ่งนี้เป็นจริงที่บ้าน

ดังที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เกซาร์ นัมเกล วังชุก
ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนในวันที่เสด็จเถลิงราชสมบัติเมื่อปี 2006 ว่า ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือก”




ผลงานเล่มนี้เป็นการรวบรวมเรื่องสั้น บันทึกความทรงจำ และความเรียงจากประสบการณ์ของดอร์จิ
จำนวน 13 เรื่อง ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย สดใส ขันติวรพงศ์
ในชื่อ เรื่องราวในดินแดนแห่งความสุข สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2552
หนังสืออ่านเพลินไม่อยากวาง มีความซาบซึ้ง แยบยลในการร้อยเรียงเรื่องราว ง่ายและกินใจ
รู้สึกผูกพันกับตัวละครหลายคนในเรื่อง ตั้งแต่เรื่องราวในอดีตจนถึงเรื่องราวในปัจจุบัน


วิธีการเล่าเรื่องและสาระของเรื่องที่เล่า โดยการวางเนื้อหาและเลือกเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบันของชีวิต
ผู้คน สังคม หมู่บ้านของภูฐาน สาส์นของหนังสือที่แม้ง่ายแต่มีพลังของเรื่องราว
บวกกับความสามารถในการถ่ายทอดและความสวยงามในการเล่าเรื่อง
ช่วยตอกย้ำจุดยืนของสำนักพิมพ์ที่ต้องการนำเสนอเรื่องการพัฒนาที่มาพร้อมกับความทันสมัย
และผลกระทบที่เกิดขึ้น หลายคนบอกว่าเราไม่อาจปฏิเสธการเปลี่ยนแปล
แต่เราก็อยากให้กำลังใจกับราชอาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้ที่อยู่ขนาบข้างด้วยประเทศมหาอำนาจ
อย่างจีนและอินเดียให้ได้มีโอกาสคัดกรองและเลือกชะตากรรมของประเทศอย่างอิสระ
(เราทราบดีว่าจีนเข้าไปในทิเบตและยัดเยียดความก้าวหน้าที่จีนได้ประโยชน์ โดยอ้างว่าทิเบตล้าหลัง)
ภูฐานตระหนักว่าโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นในทุกหนทุกแห่ง และอาจจะไม่สามารถปฏิเสธสิ่งนี้ได้
แต่สังคมภูฐานจะต้องมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนถกเถียงหาความเป็นไปได้ของเขาเอง
เฉกเช่นชนบทและชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย
และราชาธิบดีของภูฐานก็ตอบผู้เชี่ยวชาญ World Bank
เมื่อมาแนะนำให้ประเทศภูฐานที่ได้ชื่อว่าด้อยพัฒนาเร่งเปิดประเทศและพัฒนาในแบบตะวันตก
ราชาธิบดีภูฐานจึงตรัสว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นเอช) สำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)"


เอมีล Emile : ยัง ยาคส์ รูซโซ


เอมีล Emile : ยัง ยาคส์ รูซโซ
ศิริขันธ์ : ผู้แปล

“เอมีล” ปรัชญนิยายที่เชื่อว่า มนุษย์ดั้งเดิมตามธรรมชาตินั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เมื่อมนุษย์ได้สร้างอารยธรรมและสังคมขึ้นมา กลับไปทำลายความเป็นมนุษย์และความบริสุทธิ์แต่ดั้งเดิม
จากความเชื่อนี้ได้นำเสนอแนวคิดทางการศึกษา ที่เน้นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเด็ก และเหมาะสมกับวัยเป็นสำคัญ ให้เรียนรู้จากของจริง ให้ธรรมชาติเป็นครูสอนเด็ก

" ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากฝีมือธรรมชาติย่อมดี แต่เมื่อผ่านมือมนุษย์ไปแล้ว - - ย่อมเสื่อมโทรม"

.... เพราะฉะนั้นวิธีที่จะโน้มน้าวเอาใจคนซึ่งหลงระเริงใน 'ความเทียม'
ให้หันกลับสู่สภาวะอันดีขึ้น ก็มีอยู่ทางเดียวคือ จูงใจให้หันเข้าหาธรรมชาติ



... เราสามารถที่จะขัดเกลาเด็กๆ เพื่อให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ง่าย
และการขัดเกลานี้ก็เป็นของง่าย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ ธรรมชาติรู้ดีว่า
อะไรจำเป็นและอะไรดี ....


ยัง ยาคส์ รูซโซ ชาวฝรั่งเศสผู้ประพันธ์ ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1762
ปี เดียวกับที่พิมพ์ “สัญญาประชาคม” หนังสือที่มีอิทธิพลทางความคิด
ด้านการเมืองต่อชาวฝรั่งเศสจนเป็นชนวนนำไปสู่การปฏิวัติของประชาชน
ที่เรียกว่า “การปฏิวัติฝรั่งเศส”

และจากแนวคิด รัฐบาลจะต้องได้รับการเลือกตั้งและยินยอมจากประชาชน
ผู้ปกครองต้องสามารถคุ้มครองป้องกันให้ประชาชนพลเมืองมีความสุข
ได้แพร่กระจายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก


โทรทัศน์ : ซะห์นูน อะหมัด , อับดุล ราซัค


โทรทัศน์ : ซะห์นูน อะหมัด , อับดุล ราซัค แปลแปลจากภาษามลายู

ผู้ได้ชื่อว่าบิดาแห่งนวนิยายมลายู (มาเลเซีย)
มีนิยายไม่ต่ำกว่า 30 เล่มและเรื่องสั้นอีกมากมาย
นวนิยายขนาดสั้นนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง โทรทัศน์ เรื่องนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1995
โดยสถาบันเดวัน บาฮาซา ดันปุสตากา เป็นงานเขียนที่อื้อฉาว
ได้รับการกล่าวขานและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาการวรรณกรรม
บ้างว่าเป็นงานเขียนที่ลามกอนาจาร บ้างเห็นว่าเป็นงานวรรรณกรรมอิสลามที่ดีเลิศน่ายกย่อง
ซะห์นูนใช้เวลาเพียง 32 วัน ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้

โดยที่ท่านกล่าวว่าประเด็นที่ท่านต้องการหยิบยกมานำเสนอในนวนิยายเล่มนี้
เป็นเรื่องของภาวะความตกต่ำเสื่อมเสียทางด้านจริยธรรมและศีลธรรมของสังคมปัจจุบัน
อันเนื่องมาจากอิทธิพลของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยท่านใช้สื่อโทรทัศน์เป็นสัญลักษณ์
ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กลายเป็นเหรียญสองด้านที่มีทั้งคุณและโทษ



นิยายในของซะห์นูน มอบหมายให้ โทรทัศน์ คือ ตัวโกง ในหมู่บ้านที่ใส ซื่อ บริสุทธิ์และไร้เดียงสา
หมู่บ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม ห่างไกลความเจริญ มีการพึ่งพาตัวเองอย่างมาก
ไม่ว่าจะปลูกผัก ทำนา เลี้ยงสัตว์ (ยูโทเปีย ชัดๆ ) แต่เมื่อตัวโกง (ทีวี) เข้ามา
โดย ลูกสาว ผู้เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป
- - เมื่อเราตั้งรับกับวัฒนธรรมที่ไหลบ่ามาอย่างท่วมท้นเช่นนั้นไม่ทัน



ศิลปะแห่งความสุขในที่ทำงาน : องค์ทาไลลามะ และ โฮเวิร์ด ซี คัทเลอร์


ศิลปะแห่งความสุขในที่ทำงาน : องค์ทาไลลามะ และ โฮเวิร์ด ซี คัทเลอร์
รักดี โชติจินดา แปล
The Art of Happiness at Work

หนังสือเล่มนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งของความร่วมมือระหว่างองค์ทะไลลามะและจิตแพทย์โฮเวิร์ด ซีคัทเลอร์
ในการสานต่อการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวทุกคน ที่ทำให้ชีวิตมีความหมายและความสุข
คัทเลอร์ได้ชี้นำให้เราเข้าใจในเหตุและผลขององค์ทะไลลามะ รวมถึงปัญญาณาณและข้อคิดต่างๆ
ที่ท่านมีต่อชีวิตการทำงานของคนทั่วไป เพื่อให้เราสามารถประยุกต์แนวคิดของท่านมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ราทุกคนล้วนต้องทำการทำงาน มีแต่คนว่างงานเท่านั้น ที่ไม่ต้องทำงานอะไรเลย - -
และบ่อยครั้งเราจะได้ยินผู้คน หรือแม้แต่ตัวเอง ที่แอบถอนหายใจกับงานที่ทำ บ่นเบื่อกับที่ทำงาน
เบื่อเจ้านาย เบื่อเพื่อนร่วมงาน ถ้าหากว่างานที่ทำไม่ใช่ความสุขใจ ที่ทำงานล้วนเต็มไปด้วยความตึงเครียด ปัญหาการเมืองในที่ทำงาน หรือที่เลวร้ายไปกว่านั้น เราพบว่า ทั้งงานและที่ทำงานล้วนเต็มไปด้วยความเครียด อย่างยิ่ง



การไคร่ครวญไถ่ถามถึงความหมายของงานที่ทำ สัมพันธภาพในที่ทำงาน
และอื่นๆ เราอาจต้องไคร่ครวญหาในเรื่องความสมดุลของชีวิตกับการงาน
ทำอย่างไรให้งานมาช่วยเติมเต็มชีวิตของเรา เพื่อสนองต่อเสียงเรียกภายในของเรา
การทำงานใช่เพื่อเลี้ยงชีพอย่างเดียวหรือไม่ - - ความสุขของมนุษย์มีหลายองค์ประกอบ
ที่ไม่ได้ตอบเพียงแค่การหาเงินเพียงอย่างเดียว แต่มี คุณค่าทางจิตใจ ทางจิตวิญญาน
หรือเป้าหมายในชีวิตที่มีความหมาย

ศิลปะแห่งความสุขในที่ทำงาน เป็นแหล่งรวมความแข็งแกร่งและความสงบอันมีค่า
สำหรับใครก็ตามที่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงหลักธรรมเรื่องสัมมาอาชีพ
ว่าควรประกอบไปด้วยการตอบสนองต่อความจำเป็นในชีวิตเรา หรือเป็นไปเพื่อสร้างความพึงพอใจ
และการยังชีพของตนในเบื้องต้น ในขั้นที่สองการยังชีพที่พอเหมาะพอประมาณ
จนไปถึงระดับแห่งการยังชีพเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นอีกด้วย

ลึกจากลิ้นชักพนมเทียน : พนมเทียน


ลึกจากลิ้นชักพนมเทียน : พนมเทียน

ถ้าคุณคือแฟนเพชรพระอุมา คุณควรอ่านเล่มนี้ด้วยรวมบทความโดย พนมเทียน
หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ได้เขียนไว้ในโอกาสต่างๆ ทั้งในส่วนของประวัติของตัวเอง
หรือ เรื่องราวน่ารู้อีกหลายเรื่อง รวมถึง หนังสือสำหรับพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ
ของพี่ชายคนโตของพนมเทียน หรือ ของ ' รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วย



'อ่านหนังสือเล่มนี้เถิดครับอย่างน้อยท่านก็จะได้รู้จักโคตรเหง้าศักราชของพนมเทียน
ดีกว่าที่ใครต่อใครเขาไปเขียนเป็นประวัติไว้ไม่ว่าจะใน เน็ต หรือ เอกสารฉบับใดทั้งสิ้น'

นี่คือบางถ้อยคำจาก 'อ่านที่นี่ก่อนครับ' โดยพนมเทียนจากเล่มเดียวกัน นี้

ทำให้นอกจากจะอ่าน เล่มนี้เถิดครับแล้ว ยังต้องไปลองเสิร์ชเอาจาก' เน็ต
ดูอีกด้วยว่ามีผู้คน เขียน ถึงพนมเทียน ไว้มากน้อยแค่ไหน
535,000 กว่ารายการ !!


ไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับการ พิมพ์ ด้วยคำว่า พนมเทียน
เพียงคำเดียวนักเขียนผู้มากความสามารถ ศิลปินแห่งชาติท่านนี้
ล้วนมีแง่มุมน่าสนใจมากมายไม่น้อยไปกว่าผลงานของท่าน
งานของพนเทียน ถ้าเราเคยค้นคว้า ตามอ่านกัน นอกจากเพชรพระอุมาแล้ว
เรื่องเดินป่า อย่าง เห่าดง เหล็กไหล สืบสวนสอบสอน อย่างเล็บครุฑ ยังมีเรื่องรักโรแมนติก
อีกหลายต่อหลายเรื่อง อย่าง ละอองดาว สกาวเดือน รัศมีแข แววมยุราหรือ
จุฬาตรีคูณ และ ศิวา ราตรี

ความฝันของคนวิกลจริต : ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี


ความฝันของคนวิกลจริต

เขียน : ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี

แปล : มนตรี ภู่มี

สำนักพิมพ์ : สามัญชน

ราคา : 65 บาท (พิมพ์ครั้งที่สี่, 2545)

ถ้าใครสักคนฝันถึงโลกสวยงาม ดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุข ความแจ่มใสเบิกบาน ราวภาพวาดอันเลอเลิศที่ไม่น่าจะมีอยู่ในโลกใบนี้ นอกจากในจินตนาการเพี้ยนๆ ผิดรูปไปจากโลกแห่งความเป็นจริงแล้วละก็ สมควรแล้วใช่ไหมที่ใครคนนั้นควรจะถูกตราหน้าว่าเป็น “คนบ้า”

“ความฝันของคนวิกลจริต” คือเรื่องราวของเขา-ชายคนที่ถูกขนานนามว่าเป็นคนบ้าคนนั้น ซึ่งเขายิ้มแย้มน้อมรับต่อคำเรียกขานดังกล่าวด้วยความเต็มใจ

ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เปิดฉากเล่าเรื่องราวของชายวิกลจริตอย่างตรงไปตรงมา และค่อยๆ ไล่เรียงเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ของเขาแบบเปิดเปลือย รื้อค้นและถอนรากถอนโคนความคิดของมนุษย์ไปทีละนิดๆ แต่ละบท แต่ละตอนตรง แรง กระแทกใจ จนเราผู้อ่านอดไม่ได้ที่จะต้องหยุดพัก ทบทวนและพูดคุยกับตัวเองแทบทุกหน้า ทุกตอนของเรื่อง

“ผมเป็นคนวิกลจริตสิ้นดี จนบัดนี้ใครต่อใครต่างพากันเรียกผมว่า ‘อ้ายบ้า’ ไปแล้ว

มันออกจะเป็นการยกระดับสำหรับผมอยู่เช่นกันที่ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะของคนโง่เง่าเหมือนที่เป็นมา แต่ทว่าผมก็ไม่ได้ถือสาอะไร เพราะพวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลที่ผมรักใคร่ในยามนี้...”

เมื่อ “ผม” ในเรื่องเปิดฉากเรื่องราวมาเช่นข้างต้น ก็ทำให้เราเองอดไม่ได้ที่จะคิดว่าหมอนี่ต้องประหลาดจริงๆ อย่างแน่นอนที่ยอมรับความบ้าของตนเองอย่างหน้าชื่นตาบาน ทั้งยังคงรักคนที่ต่อว่าต่อขานตัวเองอย่างมีความสุขอะไรจะปานนั้น “ผม” ดำเนินเรื่องราวด้วยการเล่าย้อนคืนวันเก่าก่อน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ประหลาด ที่ความฝันของเขาได้เปิดโลกใบใหม่และทำให้เขาเข้าใจสัจธรรมในชีวิตที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง (หรือแท้จริงแล้ว ความฝันในโลกใบใหม่ คือความจริงที่อยู่ด้านในใจลึกๆ เสมอมา)

“ผม” เติบโตมาเหมือนเราๆ ท่านๆ ที่อาจพบได้ทั่วไปริมถนนหนทาง เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งตัวเรา ผู้ซึ่งทั้งชีวิตพยายามค้นหาความหมายในการมีอยู่แต่ไม่เคยเจอ จึงมีแต่ความดิ้นรน หม่นหมองโศกเศร้าและจมดิ่งกับด้านมืดของตัวเอง

“ผมเชื่อว่าได้รู้ชัดถึงความโง่งมในตัวเองเมื่ออายุสักเจ็ดขวบ ครั้งสมัยเริ่มเข้าเรียน แล้วระเรื่อยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะหรือ? ก็คือ ยิ่งเรียนมากขึ้นผมก็กลับรู้สึกโง่ลงถนัดใจ... และยิ่งเมื่อผมเข้าไปเรียนรู้วิทยาการทั้งหลายแหล่ ทั้งพิสูจน์ ทั้งทดลอง ทั้งอธิบาย การณ์กลับปรากฏแก่ตัวผมเองว่า ผมนี่ช่างเป็นคนโง่เง่าเอาเสียจริงๆ

ในชีวิตจริงของผมก็เช่นกัน ยิ่งวันเวลาผ่านไปในแต่ละปี ผมยิ่งรู้สึกโง่ลง... โง่ลงในทุกๆ เรื่อง

...

ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ผมก็ยิ่งรู้ว่าตนเองนั้นมันโง่บรมโง่ พอเป็นเช่นนี้แล้ว ผมกลับทำใจได้มากขึ้นเพราะอะไรก็ไม่รู้ ผมขอย้ำนะครับว่าเพราะอะไรก็ไม่รู้

คุณเอ๋ย! ก็จนทุกวันนี้ผมยังหาเหตุผลแท้จริงไม่ได้เลย...

บางทีอาจเป็นเพราะผมเลิกหวังเสียแล้วเกี่ยวกับโลกนี้- -โลกหน้า ทั้งๆ ที่ผมเคยสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานพอดู แต่แล้วเมื่อปีกลายนี้เองที่ผมปลงตกอย่างสนิทใจ ‘ไม่มีอะไรสักสิ่งเป็นแก่นสาร’ ผมพลันรู้สึกว่าคงไม่มีอะไรแตกต่างสำหรับผมเลย ไม่ว่ามันจะมีโลกหน้า หรือโลกไหนๆ ก็ตามที”

(หน้า 20-21)

เมื่อ “ผม” ไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับใครต่อใครได้ จึงคิดวางแผนที่จะฆ่าตัวตาย แต่ด้วยเพราะเด็กผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่งข้างถนน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเขาเลยได้ผ่านเข้ามาเพียงเสี้ยวเวลาเล็กๆ เวลาหนึ่ง แต่ด้านในของเขาและความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี ได้ตั้งคำถามต่างๆ นานาต่อการมีชีวิตอยู่ และจากชั่วเวลาเล็กๆ นั้นเองที่เป็นต้นตออันก่อให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดฝัน และเปลี่ยนโลกทั้งใบของเขาให้พ้นไปจากภาวะที่เคยมีมาตลอดช่วงชีวิต

มันคือความฝันเห็นโลกอีกใบหนึ่ง ต่างไปจากโลกที่ “ผม” เคยอยู่อย่างสิ้นเชิง

“...ทุกสิ่งทุกอย่างในที่นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับบนโลกของเราไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันก็เพียงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในที่นี้เต็มไปด้วยบรรยากาศแจ่มใสเริงร่า คล้ายวันพักผ่อนอันแสนสุขสงบและเปล่งประกายสูงสง่าราวกับเป็นดินแดนที่มีความเป็นมาอย่างยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์กระนั้น

คลื่นจากท้องทะเลสีเขียวมรกตโยตัวเข้าหาฝั่งอย่างสงบนุ่มนวลราวกับสัมผัสลูบไล้จากมืออันละมุนละไมของคนรัก

พันธุ์ไม้น้อยใหญ่ชูกิ่งก้านสล้างอยู่ท่ามกลางมวลหมู่ดอกไม้นานาชนิด ใบของมันสะบัดพลิ้วจนเกิดเสียงเสียดสีกันอย่างแผ่วเบาราวกับพวกมันกำลังพึมพำกล่าวทักทายต้อนรับผมด้วยถ้อยคำอ่อนหวานระรื่นหู

...

แล้วในที่สุด... ผมก็ได้พบเห็นผู้คนบนดินแดนอันแสนรื่นรมย์หรรษาแห่งนี้...”

(หน้า 49)

…พวกเขาไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น และมีความสุขความพึงใจ ไม่ดิ้นรนไขว่คว้าอยากจะรู้จักชีวิตอย่างที่พวกเราใฝ่หาประสบการณ์ชีวิตกันนักหนา เพราะว่าชีวิตของพวกเขานั้นบรรลุถึงจุดสมบูรณ์แล้ว

ความรู้ของพวกเขาละเอียดลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าความรู้ที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ของเรา เพราะวิทยาศาสตร์พยายามใช้เหตุผลหาความหมายของชีวิต วิทยาศาสตร์จึงพยายามทดลองที่จะหยั่งความลึกล้ำนั้นเพื่อหาคำตอบว่าชีวิตควรจะดำเนินไปอย่างไร ขณะที่ผู้คนที่นี่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรด้วยตัวเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยวิทยาศาสตร์มาช่วยเหลือเกื้อกูลเลย...”

(หน้า 54)

“ผม” ได้ก้าวเข้าสู่โลกในฝันใบใหม่ที่สัมผัสได้จริงจนรู้สึกได้ และส่งผลกระเทือนมาสู่ชีวิตจริงหลังจากตื่นขึ้นมาบนโลกใบเดิม และแล้วทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป

หน้าปกหนังสือเล่มนี้ มีคำอธิบายต่อท้ายเรื่องไว้ว่า “ความฝันของคนวิกลจริต : ภาพสะท้อนภาวะแห่งปรารถนาถึงดินแดนอุดมคติ” ที่เชื่อได้ว่า เมื่อเราได้ติดตาม “ผม” ในเรื่องไปสู่ดินแดนอุดมคติดังกล่าว เราจะซาบซึ้งและอยากให้เกิดโลกอุดมคตินั้นอย่างจริงจังในโลกที่เราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่...เครื่องมือใดเล่า วิธีการใดหรือ...ที่จะนำพาเราไปสู่โลกอุดมคตินั้นได้ หรือแม้แต่จะนำพาโลกอุดมคติอันแสนสวยงามนั้นมาสู่ตัวเราได้...ทางใดกัน

ดอสโตเยฟสกีทำให้ “ผม” ได้ค้นพบความหมายบางอย่าง จนเกิดศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อความดีงามที่มีอยู่จริง และดังนั้น เขาจึงอุทิศชีวิตทั้งหมด เพื่อสิ่งดีงามอันเป็นอุดมคติซึ่งเกินกว่าจิตใจที่หยาบกระด้างจะเข้าใจถึงมันได้ (แต่ทุกคนต่างฝันใฝ่ถึงมันอยู่ทุกนาที)

“…

ผมได้เห็นสัจธรรมความเป็นจริง ผมได้เห็นมัน และผมรู้ว่า...

คนเรานั้น สามารถที่จะมีความงามและความสุขได้โดยไม่สูญเสียความสามารถที่จะดำรงอยู่ในโลกนี้

ผมไม่เชื่อ และจักไม่เชื่อว่าความชั่วร้ายเป็นสันดานดิบตามธรรมชาติของมนุษย์…”
(หน้า 76)

“...สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สวรรค์นี้เกิดเป็นจริงได้นั้นง่ายมาก ในชั่ววันเดียวหรือ ‘ในชั่วโมงเดียว’ เท่านั้น สิ่งนั้นก็คือ

‘จงรักผู้อื่นเหมือนกับที่รักตัวเอง’

แค่นี้เอง ไม่มีอย่างอื่น ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากไปกว่านี้จริงๆ ...

...เป็นความจริงที่มีมาช้านานชั่วกัปชั่วกัลป์ เป็นสิ่งที่พูดกันซ้ำซาก อ่านกันจำเจเป็นแสนๆ เป็นล้านๆ ครั้ง แต่ไม่มีการปฏิบัติให้เข้าถึงแก่นกันสักที...”

(หน้า 78)

ดอสโตเยฟสกี ชวนให้เราขบคิดและมองให้ข้ามพ้นจากแก่นสารที่เรารับรู้กันไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยการส่งถ้อยคำตรงดิ่งมาเคาะที่เปลือกหุ้มหัวใจของเราว่า...

“สิ่งที่พวกเราต้องร่วมกันคัดค้านต่อต้านก็คือ ความคิดความเชื่อที่ว่า

สำนึกแห่งชีวิตนั้นสำคัญกว่าชีวิต ความรอบรู้เรื่องกฎแห่งความสุขสำคัญยิ่งกว่าความสุข

ก็ใช่หรือไม่เล่า! ที่เรามักละเลยความสุขที่แท้จริง

แล้วกลับให้ค่า ให้ความสำคัญต่อวิธีการ ต่อรูปแบบมากกว่าความสุขที่มันอาจได้มาอย่างง่ายๆ ในโลกใบเดิมที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน...

ในหมายเหตุของนักแปล ซึ่งเขียนไว้เมื่อพิมพ์ครั้งที่สองตอนหนึ่งระบุไว้ว่า...

“อาร์โนลด์ ทอยบี (Arnold Toybee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า

“เรามี ‘ความรู้’ มากกว่าบรรพบุรุษของเรา แต่นั่นมิได้หมายถึงว่า เรามี ‘ความเข้าใจ’ มากกว่า”

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าถ้าเราปรารถนาจะ ‘เรียนรู้’ มนุษย์ทั้งในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกต่อความรัก ความชัง ความกลัว ความอิจฉาริษยา และเกียรติยศศักดิ์ศรีแล้วเราจะไม่พบพานสิ่งนี้ในตำราจิตวิทยาเลย หากแต่จะสามารถรับรู้รสอารมณ์ความเป็นมนุษย์เหล่านี้ได้ในเนื้องานวรรณกรรมของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย เช่น ดอสโตเยฟสกี...”

ดังนี้แล้ว เมื่อมีวรรณกรรมดีๆ ขนาดกระทัดรัด เล่มไม่ใหญ่ไม่โตให้ต้องหนาวเหน็บ แต่ให้เนื้อหาและคุณค่าที่ตกผลึกของนักเขียนยิ่งใหญ่ระดับโลกเช่นนี้มาถึงมือได้อย่างง่ายๆ แล้วละก็ สมควรละหรือที่เราจะพลาดมันไปได้...

แนะนำโดย : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

เหมาะสำหรับ : ใครที่สนใจเรื่องราวการค้นหาความหมายของชีวิต ใครที่สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อโลกอันดีงาม อ่านเพื่อสัมผัส รับรู้และตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติซึ่งในวัยเยาว์เราอาจเคยฝันถึง ซึ่งพอถึงวันที่เราซับซ้อนมากขึ้น เรากลับทอดทิ้งโลกใบนั้นให้ห่างไปจากจิตใจของเราทุกที- -ทุกที ลองมารื้อฟื้นความจริงในโลกอีกใบหนึ่งที่เราเคยเห็นมันและเชื่อมั่นมันให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกสักครั้ง