บทเรียนชีวิตทิ่จิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้ : โดยนายแพทย์ เอ็ม. สก็อต เปค,วิทยากร เชียงกูล แปล


บทเรียนชีวิตทิ่จิตแพทย์อยากบอกให้โลกรู้ : โดยนายแพทย์ เอ็ม. สก็อต เปค,วิทยากร เชียงกูล แปล


'กว่าเราจะรู้ว่าชีวิตคือะไร
เราก็ใช้มันไปแล้วครึ่งหนึ่งของชีวิต' - -

นี่คือคำโปรยปก ที่ทำให้เราสะดุด และหยุดคิดตั้งแต่เริ่มหยิบมาอ่าน
ว่าที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เรารู้ หรือยัง ว่าชีวิต คืออะไร


ชั่วขณะที่เราอยากให้คนทั้งโลกเข้าใจเรา เห็นอกเห็นใจเรา
เราก็ต้องเข้าใจตัวเราเองเสียก่อน
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ให้เราได้ทั้งหมด แต่ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาได้มากยิ่งขึ้น แล้ว แก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวของเราเอง ทั้งในการจัดการชีวิต และในการเผชิญปัญหา ต่างๆ เหล่านั้น ที่ส่วนมากเรามักจะหลงลืม


'วินัยคือเครื่องมือพื้นฐานชุดหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาของชีวิต
หากเราไม่มีวินัยเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย
หากเรามีวินัยบางส่วนเราจะแก้ปัญหาได้บางส่วน
หากเรามีวินัยอย่างสมบูรณ์เราจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด'

(จากบท ปัญหาและความเจ็บปวด)

ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก - - นี่คือความจริงที่ยิ่งใหญ่
เมื่อเรายอมรับและเข้าใจว่าชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก โดยเข้าใจ
และยอมรับมันอย่างแท้จริง ชีวิตก็จะไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไป
สิ่งที่ทำให้ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบากก็คือ การเผชิญหน้าต่อปัญหาและแก้ไขปัญหานั้น
ที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าปัญหานั้นจะทำให้เราคับข้องใจ
โศกเศร้า หรือ เสียใจก็ตามที แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปัญหานี้เองที่ทำให้เราเจริญงอกงามขึ้นเมื่อเราผ่านพ้นมันไปได้


ปัญหาไม่อาจหมดไปเองได้ เราต้องหาทางแก้ไขมัน
ไม่อย่างนั้นมันก็จะยังคงอยู่ และเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญงอกงาม
และการพัฒนาทางจิตใจเราต่อไป


หนังสือจิตวิทยาเรื่องเกี่ยวกับวินัย ความรัก ความเจริญงอกงามทางจิตใจ
คติความเชื่อ (ศาสนา) และพลังศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจความคิด
และพฤติกรรมของตัวเราเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น
และจะช่วยทำให้เราเห็นช่องทางที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
และพัฒนาความเจริญงอกงามทางจิตใจของตัวเองและคนที่เรารัก
ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก คู่ครอง ลูก ญาติมิตร เพื่อน ฯลฯ ได้เพิ่มขึ้น



วาณิช 60.5 มองผ่านชีวิตหกสิบปีครึ่ง : วาณิช จรุงกิจอนันต์


วาณิช 60.5 มองผ่านชีวิตหกสิบปีครึ่ง : วาณิช จรุงกิจอนันต์

รวมบทความที่เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Image
นอกจากแฟนของ น้าวาณิช ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงแล้ว
แฟนของ ชาติ กอบจิตติ อย่าเปิดผ่านหน้าคำนิยมเลยเชียว
แก้คิดถึงได้นิดหน่อย !



"ผมรู้สึกในเวลาต่อมาว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่ได้รู้จักเรื่องการอกหัก
ทำให้กล้ายืนยันกับใครทั้งหลายที่มีปัญหาทำนองนี้ว่า เชื่อผมมันจะหายไปในวันหนึ่ง
มิช้ามินาน "

แล้วก็ต้องเชื่ออีกอย่างนึงนะครับ ว่าการอกหักกับโรคอิสุกอิใสนั้นไม่เหมือนกัน
อิสุกอิใสนั้นเป็นแล้วก็แล้วกัน ในชีวิตนี้จะไม่เป็นอีก แต่อกหักนั้นเมื่อหักแล้ว
ในครั้งแรกก็ยังหักต่อไปได้อีกเรื่อยๆ สุดแต่ - - โอ้อารมณ์ร้อนรนคนรักง่าย ' ของใคร
อารมณ์ใครอารมณ์มันครับ งานนี้ "


(ครั้งแรก , เล่มเดียวกัน)


แต่น้าวาณิชจะรู้ไหมว่า ที่มันเหมือนกันคือ เจ็บ , อาย (น่ะไม่เท่าไหร่)
แต่มันทิ้งร่องรอยไว้เตือนความทรงจำของความเจ็บปวดไว้เพียบเลย

เป็นงานเขียนอ่านสนุกเหมือนเดิม
ได้อมยิ้ม ได้หัวเราะ ได้คิดถึง ได้ระลึกถึง ได้คิดตาม
ได้หลายอย่างทีเดียวเชียวนะ
ไม่ว่าจะเรื่องกล้องถ่ายรูป ภาพถ่ายลายเซ็นต์
หรือแม้แต่บทอัศจรรย์ !

คนฉลาดแสร้งโง่เล่ม 3 : โทขุดะ โทราโอะ


คนฉลาดแสร้งโง่ เล่ม 3 ถึง “หัวไม่ดี” ก็ประสบความสำเร็จได้ : โทขุดะ โทราโอะ เขียน
– อธิคม สวัสดิญาณ เรียบเรียง

'คนฉลาด' และ'คนหัวดี' จำนวนมากมักวินิจฉัยส่งเดชตามความรู้สึก
และประสบการณ์ของตนก่อนที่จะลงมือทำว่า - - "เรื่องนี้ไม่สามารถทำได้"
"นี่คือเป้าหมายที่ไม่มีทางไปถึง" ฯลฯ
พวกเขาไม่เคยคิดเลยว่า เรื่องอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ต้องทำก่อน จึงจะรู้ข้อสรุป
ทำไม 'คนฉลาด' ไม่ประสบความสำเร็จ ?
เพราะพวกเขาหลงตัวเองว่าฉลาด
เรื่องนั้น เรื่องนี้ ทำไม่ได้
เรื่องอย่างนี้คนฉลาดเขาไม่ทำกัน ฯลฯ
และดังนั้นจึงไม่ยอมทำอะไร ....


ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนฉลาด จึงมักกำหนดเป้าหมายไว้ที่ระดับบรรลุยาก




จากถ้อยคำของเด็กบ้านนอก 'หัวไม่ดี' ผู้สูญเสียน้องชายวัย 3 ขวบเพราะป่วยไข้
โดยที่หมอไม่ยอมไปรักษาให้ จึงตั้งปณิธานในเวลาต่อมาว่าจะสอบเข้าเรียนหมอ
ในมหมาวิทยาลัยโอซาก้าและปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลของโลกให้สำเร็จ
จากนั้นจึงพยายาม'ดิ้นรนทุกวิถีทาง'เค้นสมอง และดำเนินการอย่างถึงที่สุด
กระทั่งเกิดปาฏิหารย์ขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่
ทั้งในเชิงวิชาชีพ การประกอบการ และอุดมคติ เป็นที่เอาอย่างของนักธุรกิจ
และเยาวชน นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากในญี่ปุ่น


หนังสือ ประเภท ฮาวทู บางประเภท ก็เสริมสร้างกำลังใจดี
บางครั้งก็จำเป็น เมื่อไม่รู้จะไปหันหน้าหาแรงใจ เอาจากที่ไหน
อ่านดีดี มันก็ฮึด ๆ ฮึบๆ ได้อยู่เหมือนกัน นะ

แสงสว่างในความรู้สึก : กระบี่ไม้ไผ่


แสงสว่างในความรู้สึก

เขียนโดย : กระบี่ไม้ไผ่

สำนักพิมพ์ : Way of Book

ราคา : 210 บาท

47 ความเรียงร่วมสมัยในหนังสือเล่มกระทัดรัดเล่มนี้ เปิดประตูชักชวนให้เรา-ผู้อ่านได้ค้นคิดและสำรวจพรมแดนจิตใจไปกับชีวิตยุคปัจจุบัน และกับอาการหลายๆ อาการที่เชื่อวาเราทุกคนได้เคยผ่านพ้น (แต่ละเรื่องเคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารของ Way และ Image)

หนังสือเล่มนี้จะบอกว่าอ่านง่ายก็ไม่เชิง อ่านยากก็ไม่ใช่เสียทีเดียว

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า แสงสว่างในความรู้สึก เขียนได้ไม่น่าอ่าน เปล่าเลย! แต่ละเรื่องนั้นอ่านเพลิน เพราะกระบี่ไม้ไผ่เขียนงานด้วยภาษาง่ายๆ แต่ต้องให้เวลาทำความเข้าใจกับบางเรื่องที่อาจจะยากสักนิด

เนื้อหาเรื่องราวในเล่มล้วนใกล้ชิดกับความรู้สึกของเราอย่างที่สุด หลายเรื่องเคยผ่านเข้ามาในชีวิต หลายประสบการณ์ที่เขาพบเราก็เคยเจอ แต่อาจไม่ได้จดจำหรือนั่งคิดนั่งตรึกตรองกับมันอย่างที่เขาทำ เหตุนี้เองจึงทำให้ความเรียงทั้งหลายกลายเป็นเรื่องที่อ่านแล้วเหมือนได้พูดคุยกับเพื่อนสนิท มีเพื่อนมาเตือน มาห่วงใยไถ่ถามความรู้สึกอย่างชิดใกล้ ลูบหลังลูบไหล่อย่างเบามือ พร้อมเปิดอกเปิดเผยเรื่องราวในมุมมองของเพื่อนไปด้วยกันกับเรา

ความเรียง 2-3 เรื่องในช่วงต้นของหนังสือ อย่าง ประตูสู่จักรวาล ผู้ลี้ภัยทางจิตวิญญาณ การหลงทางของช่างปั้นหม้อ เขียนให้อ่านได้ลึกซึ้งและน่าประทับใจ ร้อยเรียงเรื่องราวหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงไปสู่คำสอนของพระอริยสงฆ์หลายๆ ท่านที่เมื่ออ่านดูก็จะรู้ว่าเขามีความรู้และศรัทธาต่อคำสอนเหล่านั้นมากเพียงไร

แต่ละบทแต่ละตอนของเนื้อหาชวนให้หยุดอ่านแล้วครุ่นคิด ก่อนที่จะพลิกหน้าหนังสือเปิดอ่านต่ออีกสักนิด หรือพักหนังสือลงเพื่อครุ่นคำนึงถึงมันต่อไปอีกสักหน่อย

คุณเคยเป็นไหมกับช่วงเวลาว่าง เวิ้งว้าง เพราะรู้สึกว่าไม่มีให้ทำ ชั่วขณะนาทีอย่างนั้นเองที่คุณอาจเคยเป็นอย่างนี้...

“…เมื่อพบว่าทันทีที่สามารถรามือจากงานที่ทำอยู่ได้ในเวลาอันรวดเร็วเกินคาด และไม่อาจโอ้เอ้ฆ่าเวลาให้หมดไปได้เพราะสถานที่ไม่อำนวย ระหว่างทางเลือกว่าจะหันไปทางไหน ความเคว้งคว้างก็โผล่พรวดออกมาทำให้ใจสั่นไหว แม้ว่าจะสามารถกลบซ่อนมันทันทีด้วยการโทรศัพท์หาใครสักคนแล้วหาจุดหมายใหม่ แต่พลิ้วไหวเล็กๆ นั้นมันกัมปนาทสะท้านสะเทือน

สติเล็กๆ เตือนว่า ว่างเลยวุ่น

วุ่นมานาน ว่างแค่นิดเดียวทำไมมันวุ่นขนาดนี้ ไม่ฝึกไม่หัดว่างมากๆ คงวุ่นพิลึก

มันช่างเป็นภาวะหัวร่อมิออกร่ำไห้มิได้ เพราะจู่ๆ พลันพบว่า ตนเองช่างเป็นคนอนาถาเสียงจริง

อนาถาตามคำสอนของ หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพงที่ว่า

จิตของเรานี้ เมื่อไม่มีใครตามรักษา มันก็เหมือนคนคนหนึ่งที่ปราศจากพ่อแม่ที่ดูแล เป็นคนอนาถา คนอนาถานั้นเป็นคนขาดที่พึ่ง คนขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าขาดการอบรมบ่มนิสัย หรือทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ลำบากมาก

อนุสติผุดคำสอนของ หลวงปู่เฟื่อง โชติโก ขึ้นมาว่า

เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย ก็ให้หยุดทันทีแล้วกลับมาดูใจของตนเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นอันดับแรก

หากแสงกระจ่างฟ้าของท้องฟ้าหลังฝน เป็นเพราะไม่ต้องโอบอุ้มก้อนมเฆ ทัศนวิสัยของเราก็ย่อมจะแจ่มกระจ่างต่อเมื่อใจไม่ถลำเข้าไปแบกรับสิ่งใด...

(ผู้ลี้ภัยทางจิตวิญญาณ / หน้า 16-21)

งานเขียนของกระบี่ไม้ไผ่ไม่ได้เป็นงานเขียนประเภทที่มานั่งสั่งสอนหรือเทศนาธรรม แต่เป็นเหมือนเพื่อนชวนกันคุย เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเหมือนนักสำรวจความคิดที่ไม่ได้สำรวจเพื่อขุดคุ้ย เขี่ยร่องรอยบาดแผลให้เจ็บปวดขึ้นมาอีกครั้ง แต่เป็นการชวนให้เราลงไปสำรวจเช่นเดียวกันกับเขา ทว่า ต่างคนต่างสำรวจเนื้อในของตนก่อนจะคลี่คลายมันลงด้วยความเข้าใจ (ด้วยตัวเอง) โดยมีเพื่อนอย่างเขา มองมาด้วยสายตาให้กำลังใจ หากเราไปไม่ถึงฝั่งเขาก็ยังไม่ทอดทิ้ง หรือยืนก่นด่า ประนามความไม่ตั้งใจของเรา ก็เขารู้ว่ายุคสมัยนี้จิตใจ การงาน และสิ่งรอบตัวเป็นเช่นไร หากจะไปด้วยกันมีเพียงแต่ต้องยื่นมือช่วยเหลือมากกว่าจะเหยียดหยัน เยาะเย้ย

ใช่แล้ว! งานของเขาไม่มีน้ำเสียงเหล่านั้นเลย

น้ำเสียงในความเรียงของเขา เป็นน้ำเสียงของการส่งต่อแสงไฟเพื่อส่องสว่างในหนทางแห่งโลกอันเวิ้งว้างว่างเปล่า เพื่อไปสู่หนทางของความสุขในแต่ละแบบฉบับเฉพาะแห่งตน (ไม่ได้ยัดเยียดหนทาง หรือประกาศก้องอวดเส้นทางเดินเพื่อพบสุขแบบนั้นแบบนี้!!)

ใครที่สนใจ อยากบอกว่า หยิบมาอ่านเถิดแล้วจะไม่ผิดหวัง และขอบอกว่าไม่จำเป็นต้องอ่านรวดเดียวหมดเล่ม แต่ควรค่อยๆ ละเลียด ค่อยๆ คุยกับเพื่อนไปวันละบทละตอน เพื่อให้ความเข้าใจนั้นค่อยๆ หยั่งรากและทำความรู้จักกับจิตด้านในของเราอย่างช้าๆ

จริงๆ แล้ว อยากนำเสนอถ้อยคำในบางบทตอน หรือยกคำเขียนดีๆ มาหลายๆ ช่วง แต่เพราะความเรียงเหล่านี้ต้องอ่านร้อยเรียงกันทั้งเรื่อง (สั้นๆ) จึงจะอิ่มเต็มและจึงจะเก็บความหมายได้ตามที่กระบี่ไม้ไผ่ตั้งใจสื่อสาร ดังนั้น ในที่นี้จึงขอรบกวนเนื้อที่ และเวลาผู้อ่านมาลองอ่านสักบทในหนังสือ แสงสว่างในความรู้สึก ก่อนตัดสินใจเดินไปที่ร้านหนังสือ (หรืองานสัปดาห์หนังสือ) เพื่อหยิบติดมือซื้อกลับบ้านสักเล่ม-สองเล่ม

เรื่องที่ยกมาทั้งตอนนี้เป็นเรื่องที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกหลากหลาย ทั้งยังร่วมสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอย่างที่สุด (เคยลงในนิตยสาร Way ฉบับ 34/2553)

ดึงเชือกย่ำระฆัง (หน้า 224-229)

มีสัญญาณหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า ผู้คนและบ้านเมืองต่างๆ ในโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง

มิใช่แค่เรื่องกายภาพประเภทธารน้ำแข็งลดลงอย่างน่าใจหาย หรือภาวะความแปรปรวนทางธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งกำลังคุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วทุกมุมโลกอย่างเปิดเผย หากแต่เป็นความแปรปรวนทางจิตใจอันโกลาหล

รอยปริแตกเล็กๆ อย่างหนึ่งซึ่งบ่งบอกถึงอาการนั้นคือ หาพระตีระฆังไม่ค่อยจะได้แล้ว

หลายศตวรรษมาแล้วที่นักบวชนิกายคาทอลิกในประเทศอิตาลี จะย่ำระฆังโดยดึงเชือกทุกเที่ยงวันและเวลา 6 โมงเย็น มันไม่ได้เป็นแค่พิธีการบอกเวลา อันเป็นความคุ้นชินบนสายสัมพันธ์ระหว่างโบสถ์กับชาวบ้านเท่านั้น หากแต่เป็นความเชื่อของผู้คนที่สั่งสมกันมาชั่วคนว่า เสียงกังวานของระฆังจากโบสถ์จะป้องกันพายุลูกเห็บและสลายอันตรายที่มากับความืดครึ้มได้

ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเชื่อเช่นนั้นอยู่

บัดนี้วัฏจักรชีวิตที่ดำเนินมาหลายร้อยปีกำลังสั่งสะเทือน เสียงย่ำระฆังกำลังจะหายไป

เพราะนักบวชนิกายคาทอลิกนับวันจะมีน้อยลงเรื่อยๆ เสียงระฆังจึงแผ่วลง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ บริษัท รูบากอตตี้ กอมปาเน บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการผลิตระฆังของอิตาลีจึงพัฒนาระบบตีระฆังขึ้นมาใหม่ โดยให้พระคาทอลิกตีระฆังโดยใช้โทรศัพท์มือถือแทนการดึงเชือก

แค่พระกดโทรศัพท์มือถือสั่งตีระฆัง ก็จะมีสัญญาณไปให้ระบบที่ปลายทางเริ่มทำงาน แค่นี้ปัญหาปวดหัวที่ต้องหาพระหมุนเวียนกันไปย่ำระฆังตามโบสถ์ต่างๆ ทั้งที่ใกล้ไกลก็จะหมดไป นัยว่า เท่าที่ทดลองใช้พระก็พอใจ บริษัทผู้ออกแบบก็ดีใจที่การสังเกตพบว่า พระชอบพกสมาร์ทโฟนสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ (กรุงเทพธุรกิจ : 21 มิถุนายน 2553)

เสียงระฆังโบสถ์คาทอลิกในอิตาลีจะกังวานขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่มันจะช่วยปัดเป่าภยันตรายได้อยู่อีกหรือ?

นิกายคาทอลิกได้ชื่อว่า เข้มงวดกับการฝึกตน อาจเพราะเหตุนี้จำนวนพระคาทอลิกจึงน้อยลง แต่ใช่หรือไม่ว่า ในโลกอันผันผวนนี้ มีแต่คนฝึกตน คนที่ฝึกควบคุมจิตใจตนเองเท่านั้นจึงจะฝ่าไปได้หรือพอจะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้

นี่คือความต่างระหว่างการย่ำระฆังด้วยมือ และการสั่งสัญญาณทางแบล็คเบอร์รีหรือไอโฟน

แน่นอนว่า ในสมัยใหม่เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอะไรมากมาย แต่ถ้าจิตสำนึกของการสังหารโดยวิธีกดปุ่มยิงจรวดนำวิถี มันแตกต่างจากการเผชิญหน้าระยะประชิดในสนามรบตามสงครามรูปแบบเดิม หรือเป็นจิตสำนึกที่แตกต่างจากากรรบบนหลังม้าในสมัยโบราณ ก็เชื่อได้ว่า การพังทลายของจิตใจมนุษย์นั้น จะส่งผลรุนแรงกว่าการพังทลายของธรรมชาติมากมายนัก

มีร่องรอยการแปรเปลี่ยนทางจิตใจปรากฏมากมายอยู่บนโลก

ถ้าเฝ้าพินิจดูมันอาจจะเหมือนวงปีของต้นไม้ อาจจะเหมือนร่องรอยของไลเคน หรือซากฟอสซิลตามที่ต่างๆ

ชายหนุ่มถามคนที่เคยเดินทางไปทั่วทุกมุมโลกบางคนว่า เท่าที่เดินทางไกล 5-6 ครั้งต่อปีนั้น เห็นโลกเปลี่ยนไปบ้างไหม

เธอว่ามันมีความเหมือนกันมาขึ้นทุกขณะ เราไม่ต้องกังวลใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เราเคยใช้แล้วลืมติดตัวมาด้วยนั้นจะหาไม่ได้ในร้านสะดวกซื้อ แม้แต่อาหารการกินก็ไม่ต้องเป็นกังวล แต่ความเป็นเอกลักษณ์หายไป มันจะปรากฏเฉพาะในการแสดงโชว์ซึ่งเป็นการท่องเที่ยว หรือไม่ก็ต้องเดินทางลึกเข้าไปไกลกว่านั้นถึงจะพบเห็น ที่เปลือกยังแข็งอยู่และเห็นประจักษ์ชัดด้วยตาคือ ญี่ปุ่น

อะไรบางอย่างกำลังหลอมผู้คนเข้าด้วยกัน ถ้าจะไม่ให้ความร้อนที่แผดเผาเข้ามานั้นทำลายล้างเราไปจนหมดสิ้น ก็ต้องอยู่กับโลกโดยไม่ติดกับโลก ตีระฆังด้วยการดึงเชือกได้ก็ต้องดึง ส่วนที่ไหนห่างไกลจนเกินไปต้องใช้สมาร์ทโฟนก็ต้องใช้

รอยปริแตกท่ามกลางความโกลาหลประจำยุคสมัยนั้นมีอยู่ทั่วไป ถ้าสังเกตให้ดีก็จะมีให้เห็น มีให้ได้ยินอยู่ทุกวัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คนปากีสถานไม่พอใจที่ไฟฟ้าดับในช่วงการแข่งขันบอลโลก จึงลุกฮือขึ้นมาเผาโรงผลิตไฟฟ้าเสียหายไป 5 แห่ง

ไม่มีใครฉุกคิดเลยว่า เหตุที่ไฟฟ้าดับนั้นเป็นเพราะผลิตไฟฟ้าไม่พอ จึงต้องจ่ายไฟเป็นเขตๆ พอไฟไม่พอเลยเผาโรงไฟฟ้า แล้วมันจะมีไฟที่ไหนมาให้ใช้กันเล่า?

เผาโรงไฟฟ้าได้ไม่กี่วัน นักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องก็ยกพวกตีกันเพราะข้างหนึ่งอยากให้เลื่อนวันสอบเพราะอยากจะดูบอล อีกข้างต้องการสอบให้เสร็จๆ ไป ผลเสียหายกลายเป็นข้อยุติเพราะเกรงว่าจะบานปลายทางการเลยเลื่อนวันสอบออกไปก่อน

ประเทศเราเองผู้คนจำนวนไม่น้อยปรารถนาจะได้ประชาธิปไตยใหม่ที่ดีกว่า พวกเขาล้วนชิงชังเรื่อง 2 มาตรฐาน ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ต่างหวังว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น แต่ผลสุดท้ายมันจบลงชั่วคราวอย่างน่าเศร้า เหมือนกับอยากดูบอลโลกแล้วไฟฟ้าดับเลยเผาโรงไฟฟ้าเสียเลย

นักสังเกตการณ์บางคนคิดว่า ขณะระดับปัจเจกชนครุ่นคิดถึงหนทางการได้อยู่รอดปลอดภัยตามมาตรฐานความพอใจของตนเอง รัฐบาลทั่วโลกเองก็คงปวดหัวอย่างหนักกับการฝ่าความผันผวนไปโดยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนหลักๆ ในบ้านเมืองของตนเองให้ได้

อาจเพราะเห็นความยุ่งยากตั้งเค้าทะมึนอยู่เบื้องหน้า ในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง เขาจึงอดสำรวจหน้าตักตัวเองไม่ได้ว่าจะสามารถรับมือกับมันได้ไหมเมื่อวันหนึ่งมาถึง

ถ้าไม่โกง ไม่ทุจริต ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ทำอะไรบ้าบอคอแตกที่จะทำให้ตายไปโดยหลับตาไม่สนิทก็คงพออยู่พอกินไปเรื่อยๆ ถ้าต้องอยู่ถึงเฒ่าชะแรแก่ชราก็คงต้องอยู่อย่างกระเหม็ดกระแหม่ แต่จะห่วงอะไรกับการมีกินหรือไม่มีกิน ห่วงอะไรกับการเจ็บป่วย ห่วงอะไรกับความไม่มีเล่า

หลายคนอาจจะคิดว่า ตัวเองจะมีชีวิตยืนยาวราวประหนึ่งธารน้ำแข็งโลก แต่แท้จริงแล้วมันก็เห็นอยู่ทนโท่ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

ทุกอย่างมีวันสิ้นสุด

60 ปี 70 ปี 80 ปี ไม่ได้ยาวนานอะไรเลย วันหนึ่งคืนหนึ่งก็เพียงชั่วครู่เดียว ที่ผู้รู้เปรียบเทียบว่าชีวิตหนึ่งราวกับพยับแดดนั้นแน่แท้ทีเดียว

มีชีวิตหนึ่งก็สร้างเอาเลือกเอา รวยจนก็แค่เครื่องอยู่ สติปัญญารอบรู้ รู้ทันจิตใจตัวเอง รู้เสื่อม รู้เจริญ รู้อะไรจริงอะไรสิ่งลวง ฯลฯ ก็อยู่ได้สบายดี สุขสงบหรือไม่ก็แล้วแต่ว่าจะควบคุมจิตใจตัวเองได้ขนาดไหน

คนที่เชื่อว่า จำเป็นต้องออกแรงดึงเชือกย่ำระฆังบางคนสังเกตตัวเองเช่นกันว่า พักหลังนี้ขึ้นบันไดไม่กี่ขั้นก็เหนื่อยแล้ว และระหว่างเดินขึ้นไปดึงเชือกจิตใจก็ฟุ้งซ่าน แม้เวลาดึงเชือกแล้ว เสียงระฆังก็มิได้ช่วยขับไล่ความฟุ้งซ่านซึ่งกำเริบเป็นตุเป็นตะ ให้กระเจิดกระเจิงไปได้เลย บ่อยครั้งจึงมีพายุลูกเห็บซัดกระหน่ำเข้ามา แต่เขาก็ยังพยายามปีนบันไดไปดึงเชือกอยู่เป็นประจำ

เขาเชื่อว่า เอาเข้าจริงแล้วเสียงกังวานที่ก้องกังวานออกไปไม่อาจจะสลายอันตรายที่เข้ามากับความืดให้ใครได้ แต่ถ้าใครดึงเชือกบ่อยๆ เดินขึ้นบันไดเป็นประจำ ใครคนนั้นย่อมแข็งแรง ซึ่งนั่นมันทำให้ป้องกันอันตรายสำหรับตนเองได้แน่นอน


แนะนำโดย : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

เหมาะสำหรับ : คนที่สนใจเรื่องธรรมะ แต่อยากอ่านเรื่องที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เนื้อหาเชื่อมโยงทั้งคำพระสอนและประสบการณ์ที่เราๆ ท่านๆ มีโอกาสได้พบเจอในชีวิตประจำวัน

และสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจธรรมะโดยตรง แต่ชื่นชอบงานเขียนที่สำรวจจิตใจของตนเอง งานเขียนที่ให้ความรู้สึกครุ่นคำนึงถึงเรื่องราวบางอย่าง ลองหยิบมาอ่านแล้วจะชอบ

สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนบทความและความเรียง อยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะมีความเก่งฉกาจในการร้อยเรียงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ผสมผสานเรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันให้มีแก่นแกนเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ

สนใจ เคล็ดไทย

ชำแหละกึ๋นเล่าปี่ : เล่าชวนหัว



ชำแหละกึ๋นเล่าปี่ : เล่าชวนหัว

อยู่ในชุด สามก๊กฉบับคนเดินดิน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร
โดยใช้นามปากกาว่า เล่า ชวน หัว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย
สำหรับเรื่อง ชำแหละกึ๋นเล่าปี่นี้ ผู้เขียนได้ทำการวิพากษ์
ถึง ตัวละครสำคัญอีกตัวจากเรื่องสามก๊ก นั่นคือ เล่าปี่
ผู้ที่ได้ฉายาว่า ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น
พูดจาอ่อนน้อมถ่อมตน แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะมองให้ลึกลงไป
ภายใต้รอยยิ้มที่อ่อนโยนชวนให้คนสงสารนั้น
มีอะไรแอบแฝงหรือไม่



เล่มนี้อ่านสนุกเหมือนเคยค่ะ ผู้เขียนสอดแทรกเกร็ดความรู้
เล็กๆ น้อยๆ ไว้หลายตอนทีเดียว ตั้งแต่ตอนกำเนิดของเล่าปี่
มาจนถึง การใช้ชีวิต การทำงาน การเลือกคบเพื่อน
ฉากสำคัญๆ อย่างตอนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน
ของเล่าปี่ เตียวหุย และกวนอูในสวนท้อที่มีบทพูด และฉากสำคัญ ผู้เขียนก็ได้นำมากล่าวถึงด้วยเช่นกัน














(ฉาก สาบานตนเป็นพี่น้องของ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย)

'เหล็ก - ว่าแข็ง เงินง้างอ่อนได้ดังใจ'
เล่าปี่ท่องคำพังเพยนี่อยู่เสมอ เขาจึงเชิญคนที่มีท่าทางกระด้างกระเดื่องต่อเขามาพบ
หรือบางทีก็แวะไปเยี่ยมเยียนถึงบ้าน ไปถึงก็ไหว้อย่างนอบน้อมพูดจาอย่างสุภาพ

เขาทำเช่นนี้เป็นประจำเพราะเป็นนิสัยที่ดีมาแต่กำเนิด เล่าปี่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของบังทอง
ที่ให้เชิญข้าราชการเสฉวนที่กระด้างมาพบและสังหารเสียให้หมดในคราวเดียว

เล่าปี่ไม่ชอบการสังหารผู้คนคราวเดียวมากๆ อย่างเปิดเผย
เพราะจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนอำมหิต เขาเป็นคนที่ไม่แสดงรักและเกลียดออกนอกหน้า
แต่เขาเป็นพยาบาทแล้วเด็ดใบไม้ทีละใบอย่างนุ่มนวล*

* จาก ชำแหละกึ๋นเล่าปี่

ปล. อ่านให้สนุกยิ่งขึ้น ต้อง อ่านประกอบคู่ขนานกันเลยทีเดียว




รอสฮัลด์ : เฮอร์มัน เฮสเส แปลโดยสดใส





รอสฮัลด์ : เฮอร์มัน เฮสเส แปลโดยสดใส

นวนิยายเรื่องที่สี่ของเฮสเสได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1914
สามปีหลังจากที่เขาเดินทางท่องตะวันออกเป็นครั้งแรก
เรื่องราวของจิตรกรโยฮัน เวรากุธผู้มีชื่อเสียงระดับโลก
ในเรื่องการค้นพบตัวตนของเขา
โดยทั่วไปแล้วชีวิตของเขาทั้งฐานะและความมั่งคั่ง เขาน่าจะจัดได้ว่า
เป็นบุคคลผู้มีความสุขมากที่สุดคนหนึ่ง
แต่แท้ที่จริงเขาติดจมอยู่กับชีวิตการแต่งงานที่ว่างเปล่าและเรียกได้ว่าเปราะบาง
จนเกือบจะถูกทำลายภายใต้รั้วของคฤหาสน์นาม 'รอสฮันด์ '

ทั้งเขาและภรรยารูปงามอยู่ภายใต้รั้วเดียวกัน อาณาเขตเดียวกัน
แต่กลับเหมือนอยู่กันคนละโลก จิตใจนั้นแยกห่างกันอย่างสิ้นเชิง
มีเพียงบุตรชายคนเล็กเพียงคนเดียวเท่านั้น
ที่เหมือนจะเกี่ยวร้อยรัดเขาทั้งคู่ไว้ด้วยกัน


(มุมมองของดอกไม้ผ่านสายตาของปิแอร์น้อย)

"คุณแม่ครับดอกไม้นี้ชื่ออะไรครับ" ปิแอร์ถามแสงแดดเต้นระเริง หยอกเอินเส้นผมของเขา
ขาผอมๆยืนเปลือยอาบแดดอยู่กลางแสงไสว พอเด็กชายก้ม เสื้อตัวหลวมเผยให้เห็นต้นคอขาวใต้ลำคอคล้ำแดด
"ดอกคาร์เนชั่นจ้ะ" แม่ตอบ
"ฮื่อ ชื่อนี้ลูกทราบแล้ว" ปิแอร์แย้ง
"แต่ลูกอยากรู้ว่าผึ้งเรียกดอกไม้นี้อย่างไร ภาษาผึ้งต้องมีชื่อดอกไม้นี้ด้วยแน่ๆเลย!"

"มีซีจ้ะแต่เราไม่ทราบผึ้งเท่านั้นแหละที่จะรู้" บางทีมันอาจจะเรียกดอกน้ำหวานก็ได้นะ"
ปิแอร์คิดทบทวน
"ไม่ได้หรอกครับแม่" เขาตัดสินใจในที่สุด
"ดอกโคลเวอร์ ดอกนาสเตเตียม ก็มีน้ำหวานมากเหมือนกันดอกไม้ทุกอย่างจะมีชื่อเดียวกันไม่ได้หรอก"

(เล่มเดียวกัน ชื่อของดอกไม้)

"ใช่นายอาจมอบความรัก ความอ่อนโยนให้เขา ทั้งหมดนั่นเป็นแค่ความรู้สึก...
ซึ่งเด็กทั่วๆไปต้องการน้อยกว่าที่พวกผู้ใหญ่คิดกัน อีกอย่างหนึ่งนะลูกนายเติบโต
ในสภาพที่พ่อแม่ต่างแปลกหน้าต่อกัน อิจฉากันเพราะเขาเป็นเหตุ
เขาไม่ได้เรียนจากตัวอย่างที่ดีในครอบครัวสมบูรณ์มีความสุข
เขาจะเป็นเด็กแก่แดดโตขึ้นมาอย่างผิดที่ผิดทาง - - แล้ววันหนึ่งขอโทษเถอะ
ถึงไงเขาก็ต้องเลือกระหว่างนายกับแม่ของเขา นายไม่นึกถึงเรื่องนี้เลยรึไง"

(เล่มเดียวกัน)

จริงสินะการทนอยู่ - - นี่มันดีต่อความรู้สึกของลูกจริงๆ หรือ ?

(ความนัยของจิตรกร)

ถ้าพ่อจะต้องบอกลูกว่าทำไมพ่อต้องเป็นจิตรกร 
ทำไมพ่อจึงต้องป้ายสีลงบนผ้าใบ
พ่อก็จะพูดว่า พ่อวาดเพราะพ่อไม่มีหางจะแกว่ง"
"ง่ายมาก หมาแมวสัตว์ฉลาดทั้งหลายล้วนมีหาง แล้วเจ้าหางพวกนี้แหละ
มันมีรายละเอียดล้ำค่าเป็นพันๆอย่าง ทำให้สัตว์พวกนั้นมีภาษา
สำแดงลวดลายได้น่าอัศจรรย์ มันไม่แค่บอกความคิด ความรู้สึกสุขทุกข์เท่านั้น 
แต่จะบอกทุกอารมณ์ ทุกการเคลื่อนไหวในตัวมัน 
บอกการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายของอารมณ์ได้อย่างไม่จำกัด 
ในเมื่อคนเราไม่มีหาง  คนที่กระฉับกระเฉงตื่นตัวในหมู่เรา
ก็ต้องหารูปแบบการแสดงออก 
- - เราเลยคิดสร้างพู่กันเปียโนและไวโอลิน"
(จากบทสนทนาของพ่อจิตรกรและลูกชายวัยหนุ่ม ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง )

ผ่าสมองโจโฉ : เล่าชวนหัว





















สามก๊ก ฉบับคนเดินดิน เป็นผลงานของ สุขสันต์ วิเวกเมธากร
โดยใช้นามปากกาว่า เล่า ชวน หัว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย

สำหรับ 'ผ่าสมองโจโฉ' นี้ จะกล่าวถึงตัวละครสำคัญ อีกตัว จากเรื่องสามก๊ก
คือโจโฉ จากลูกชาวบ้าน ธรรมดา ๆ จนก้าวขึ้นมาสู่ผู้อำนาจอย่างยิ่งใหญ่
ด้วยตัวเอง จากการทำงานอย่างจริงจัง อย่างเข้มแข็ง จนทำให้สามารถเติบโต
ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้อย่างแท้จริง บางคนอาจคิดว่า โจโฉนั้นเป็นผู้นำที่เหี้ยมโหด
ดุดัน แต่จริงๆ แล้ว ในงานของเล่าชวนหัว จะวิเคราห์ว่า โจโฉ แท้ที่จริงแล้ว
มีลักษณะของผู้นำที่แท้ นั้นเป็นอย่างไร แม้ไม่ต้องหยั่งรู ดิน ฟ้า มหาสมุทรก็ตามที

ในเรื่องยังสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อีกมากมาย เกี่ยวกับโจโฉ ไม่ว่าจะเรื่อง
พื้นเพของครอบครัว ลักษณะการทำงาน ตลอดจนนิสัยใจคอต่างๆ
ถ้าได้อ่านสามก๊กแล้ว อยากทราบมุมมองอื่นๆ ขอให้แนะนำให้ลองอ่าน 'ผ่าสมองโจโฉ'
เพื่อจะได้เข้าใจ โจโฉ มากยิ่งขึ้น



โจโฉเชื่อว่า คนเรานั้นบางครั้งต้องเป็นคนชั่วเพราะสถานการณ์บีบบังคับ
อย่างเช่นตัวเขาเอง ต้องฆ่าคนหลายครั้งก็เพื่อเอาตัวรอด
เขาจึงมักอภัยให้แก่คนที่เคยทำผิด แม้กระทั่งคนที่เคยเป็นศัตรูของเขา
เมื่อเปลี่ยนใจมาอยู่กับเขา เขาก็ชุบเลี้ยงอย่างดี ให้โอกาสกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติจีน

แต่คนที่เขาเกลียดที่สุด คือ 'มิตรที่ทรยศ'

* ผ่าสมองโจโฉ ตอนแยกไปตั้งตัว








เปิดหน้ากากขงเบ้ง : เล่าชวนหัว




เปิดหน้ากากขงเบ้ง อยู่ในชุด สามก๊ก ฉบับคนเดินดิน เป็นผลงานของ
สุขสันต์ วิเวกเมธากร โดยใช้นามปากกาว่า เล่า ชวน หัว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย
เล่มแรกที่จัดทำคือ เปิดหน้ากากขงเบ้งภาค 1พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พฤษภาคม พ.ศ. 2533
และได้มีการทำเล่มอื่นๆตามมา เนื้อหาภายในเรื่องนี้เป็นการวิจารณ์ตัวละครเด่นๆ จากสามก๊ก

เช่นเล่ม เปิดหน้ากากขงเบ้ง ที่มีการจัดพิมพ์ มาถึง สามเล่มเข้าให้แล้ว
โดยเล่าชวนหัว ใช้วิธีการวิพากษ์แบบชกตรงๆ ในที่สุดก็เกิดการตั้งคำถาม
และ สงสัย ว่าจริงๆ แล้ว เป็นอย่างเขาว่ามาจริงไหม
ทั้งยังสอดแทรกปะปนด้วยอารมณ์ขัน มีจิกกัด เหน็บแนม เพิ่มความสนุกสนาน
แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตามทีงานเขียนของเล่าชวนหัว
เมื่ออ่านแล้ว แอบอดคิด จินตนาการไปไม่ได้ว่า คนที่เล่าชวนหัวพูดถึง
ในเรื่องสามก๊ก ปัจจุบัน น่าจะเหมือนใครได้บ้าง - - -

*คำพูด คำเขียน ของขงเบ้งนั้นดีเลิศ แต่การกระทำละครับ
เป็นไปอย่างที่ได้เขียนไว้และสอนผู้อื่นหรือเปล่า - -
เพราะดูจากภูมิหลังในชีวิตของท่านแล้วท่านระหกระเหินมาแต่เล็ก
ไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างจริงจังการครองชีพก็ขัดสน
ต้องพึ่งพาแต่ผู้อื่น พอรุ่นหนุ่มก็เก็บตัวเงียบป็นมังกรซุ่มอยู่ถึงสิบปี
ประสบการณ์ที่ท่านได้รู้ได้เห็น ส่วนใหญ่ก็ได้จากตำราที่ไปขอยืมเขาอ่าน
คบเพื่อนไม่กี่คน ท่านไม่เคยไปไหนมาไหนเกินกว่าละแวกที่หมกตัวอยู่
แล้วท่านไปหยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ภูมิประเทศ สังคมมนุษย์
ตลอดจนเขียนแผนที่บ้านนั้นเมืองนั้นได้อย่างไร หรือว่ามีฌานวิเศษ ตรัสรู้ได้เอง


อ่านแล้ว ก็อยากจะไปหยิบเอามสามก๊กมาอ่านประกอบ อีกสักสามรอบเลยนะนั่นมันๆ ดี

* เปิดหน้ากากขงเบ้ง ภาคหนึ่ง โดย เล่าชวนหัว

เมืองพยับแดด :รวมเรื่องสั้น ราหูอมจันทร์


นิตยสารเรื่องสั้นรายฤดูกาล ราหูอมจันทร์ vol. 9 เมืองพยับแดด
ฉบับต้นฤดูกาล กุมภาพันธ์ - มิถุนายน เล่มนี้ ออกมาต้อนรับปี 2554
ประกอบด้วยเรื่องสั้นหลากรส หลายรูปแบบ จากปลาย ปากกา
ของนักเขียนคุณภาพจำนวน 15 เรื่อง มีเรื่องสั้นผ่าน ชิงรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
ครั้งต่อไปถึง 9 เรื่อง โดยนัก เขียนหนุ่ม - สาว ได้แก่
กันต์ธร อักษรนำ ปรารถนา รัตนะ ประกาศิต คนไว สาคร พูลสุข
พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิพยัคฆ์ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
(เจ้าของเรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลกนกพงศ์ ครั้งที่ 2 สด ๆ ร้อน ๆ)
อนันต์ เกษตรสินสมบัติ (นักเขียนรางวัล ชมเชยกนกพงศ์ ครั้งที่2)
ชาติ สุขประสิทธิ์ และ ปั้นคำ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสั้นรับเชิญ โดย จ่าง แซ่ตั้ง
วินทร์ เลียว วาริณ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ แล้ว ยังมี
ต้นร่างเรื่องสั้นที่ยังเขียน ไม่จบ ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
รวมกับเรื่องสั้นแปลของนัก เขียนจีน “ฮาจิน” ซึ่งได้รับรางวัลโอ. เฮนรี่
ปี ค.ศ. 2009 และเรื่อง สั้นของนักเขียนรางวัลโนเบลคนล่าสุด
“มาดิโอ บาร์กัส โญซ่า”




- - แต่ลูกน้ำแข็งก้อนน้อยน้อยหลายหลายก้อนของพ่อแม่
ก็ไม่ยอมเชื่อฟังพ่อแม่ ชอบห่างไกลพ่อแม่
ทำให้พ่อแม่เป็นห่วงเสมอเป็นห่วงลูกจะละลาย
ลูกผู้มั่งคั่งด้วยอริยทรัพย์ มั่งคั่งด้วยความอบอุ่นความรัก
ความเย็นสบายที่พ่อแม่มีให้ลูกเสมอ เป็นของลูกเสมอ
แต่ลูกยังวุ่นวาย เที่ยวหาความเป็นน้ำแข็งจากที่ไกลไกล
ไม่ยอมกลับบ้านพ่อแม่ ห่างไกลพ่อแม่
อ้างว่าจะไปค้นหาสัจจะ ความจริง
สัจจะความจริงของลูกก็คือน้ำแข็ง
สัจจะความจริงอยู่ใกล้ตัวลูกอยู่กับตัวลูก ลูกก็คือน้ำแข็ง *

* เรื่องสั้นรับเชิญ 'ลูกน้ำแข็ง' : จ่าง แซ่ตั้ง