ชวนอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นซีไรท์ ปี 2554






ชวนอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นซีไรท์ ปี 2554

และ 3 หนังสือรวมเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายที่เคล็ดไทยจัดจำหน่าย

โดย สกุณี

ทราบผลกันไปแล้วถึงหนังสือที่ได้ซีไรทต์เรื่องสั้นประจำปี 2554 นี้ กับ “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” โดยนักเขียนหนุ่ม “จเด็จ กำจรเดช” ซึ่งหลังจากประกาศผล หนังสือพิมพ์มติชนได้สัมภาษณ์ความรู้สึกของเขา จเด็จตอบว่า

"ผมทำเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรที่จะผิดหวังกับงานชิ้นนี้ ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวัง แต่พอเข้ารอบสุดท้ายก็มีหวังบ้าง การได้รางวัลนี้ไม่ได้แปลว่าเก่งหรือเหนือกว่าคนอื่น เพราะก็คงมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็พยายามที่สุดแล้วที่จะเขียนงานที่สะท้อนมุมมองข้างนอก ด้วยสายตาจากข้างใน ซึ่งผมจะทำงานต่อไปเพื่อพิสูจน์ตัวเอง"

ในประกาศรายชื่อหนังสือเข้ารอบสุดท้าย 7 เล่ม รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี 2554 หรือซีไรท์นั้น ได้อรรถาธิบายถึงความโดดเด่นของ “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” ไว้ว่า

"เป็นรวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง ที่ทำให้เรามองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยดวงตาที่เปลี่ยนไป เรื่องสั้นเหล่านี้แม้จะดูหนักหน่วงมีมิติที่ทับซ้อน มีมุมมองที่แปลกต่าง หากแต่มีความหมายอันน่าพินิจ

นักเขียนเน้นการเล่าเรื่องอย่าง มีชั้น เชิง อย่างซ่อนเงื่อนซ่อนปม กำกับบทบาทความคิดอย่างมีศิลปะในการเรียงร้อยและจัดวางจังหวะถ้อยคำและข้อ ความ เรื่องราวที่มีลีลาเชิงอุปลักษณ์ ประชดประชัน ยั่วล้อ การละเล่นกับความแปลกประหลาด ความชำรุดของสังคมและปรัชญาที่แฝงอยู่ ลงไปถึงรายละเอียดของอารมณ์มนุษย์ ภายหลังเผชิญความโศกเศร้าและหายนะ เผชิญชะตากรรมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ภาพย่อยในเนื้อหาแต่ละเรื่อง เรียกอารมณ์ และวิธีการมองโลก กระตุ้นให้คิดตามและคิดต่อ

กล่าวได้ว่า รวมเรื่องสั้นชุดนี้โดดเด่นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในแบบเฉพาะตน ฝีมือในเชิงการประพันธ์ มีสีสันในแง่ของการนำเสนอโลกทัศน์ ต่อชีวิต สังคมและโลกที่ลุ่มลึก พร้อมทั้งกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เข้มข้นด้วยอารมณ์อย่างน่าสนใจ เป็นเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ท้าทายจิตสำนึกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี"

โดยหลังจากมีการตัดสินเลือกให้หนังสือเล่มนี้ไดรับรางวัลรวมเรื่องสั้นซีไรท์ คณะกรรมการให้เหตุผลถึงการเลือกหนังสือเล่มนี้ให้ได้รับรางวัลว่า

“ผลงานชิ้นนี้สร้างพลังกระทบใจ นำเสนอประเด็นหลากหลายเกี่ยวกับมนุษย์ในสังคมไทยร่วมสมัยที่มีความซับซ้อน ยอกย้อน และความไร้สาระ โดยผู้เขียนเสนอการปะทะกันระหว่างความจริงกับความจริงเสมือน ความรู้กับความเชื่อ ความเป็นเรากับความเป็นเขา ผ่านกลวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายที่ท้าทายการตีความ”

และนับจากวันนี้หนังสือรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” และ “จเด็จ กำจรเดช” คงเป็นที่กล่าวถึงในหลายๆ เวที และคงได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้อ่านไม่แพ้ผลงานซีไรท์ในปีที่ผ่านๆ มา

แต่นอกเหนือไปจากหนังสือรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” แล้ว หนังสือรวมเรื่องสั้นที่เคล็ดไทยจัดจำหน่าย ซึ่งเข้าถึงรอบสุดท้ายของการตัดสินยังมีถึง 3 เล่มด้วยกัน อันได้แก่ "นิมิตต์วิกาล" ของ “อนุสรณ์ ติปยานนท์”, "24 เรื่องสั้นของฟ้า" ของ “ฟ้า พูลวรลักษณ์” และ "เรื่องของเรื่อง" ของ “พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์” ก็ไม่ควรละเลย เพราะแต่ละคนเขียนได้อย่างมีชั้นเชิง มีลีลาเฉพาะตน เต็มไปด้วยแง่คิด และประสบการณ์แปลกใหม่ให้คนรักเรื่องสั้นได้หยิบยกขึ้นมาอ่าน และติดตามไม่แพ้กัน

ดังที่คณะกรรมการคัดเลือกได้กล่าวถึงความโดดเด่นของหนังสือทั้ง 3 เล่มไว้ดังนี้

-“นิมิตต์วิกาล” ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์

“โลกแห่งเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ คือสิ่งที่ได้รับการประเมินว่าควรค่าและมีความหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หากแต่เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องใน นิมิตต์วิกาลของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ตั้งคำถามกับโลกใบนั้นและพาเราข้ามเส้นแบ่งพรมแดนหลากมิติ ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะเป็น ญี่ปุ่น เขมร จีน ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส หรืออื่นๆ ตามการแบ่งของรัฐชาติสมัยใหม่ ไม่ว่าเขาจะเป็นพุทธ คริสต์ ชายหรือหญิง แต่วิกฤติของชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดกับมนุษย์ทุกผู้นามโดยไม่เลือกสัญชาติ ศาสนา หรือเพศ
แต่ละเรื่องเล่าในปกรณัมส่วนบุคคลขยายความไปถึงปัญหา ของมวลมนุษยชาติ รอยไหม้ในแผ่นหนังกวางจึงเป็นได้ทั้งประจักษ์พยานเรื่องมนุษย์เบียดเบียน สัตว์ หรือหมายถึงมนุษย์เข่นฆ่ากันเองในสงครามโลกครั้งที่สอง เฉกเช่นเดียวกับการตามหายาฉีดเพื่อรักษาเพื่อนนำไปพบสงครามฆ่าล้างเผ่า พันธุ์ในเขมร หรือความเศร้าหลังการตายของแม่เร่งเร้าให้ตัวละครออกเดินทางและได้สัมผัส พลังศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าแม้ความตายจะคุกคามเบื้องหน้า กล่าวได้ว่า การเดินทางจากเรื่องส่วนตัวไปสู่การรับรู้ปัญหาของมนุษย์ร่วมโลกในดินแดน อื่นเป็นอีกหนึ่งพรมแดนที่ผู้เขียนพาผู้อ่านก้าวข้ามไป
ลีลาการเล่าที่เริ่มต้นด้วยปัญหาในโลกแห่งความจริงเชิงประจักษ์ซึ่งพรั่งพร้อมด้วย ข้อมูลอันน่าเชื่อและปล่อยให้เรื่องราวไหลเคลื่อนไปสู่เรื่องเล่าที่เกิน จริง ลึกลับ เพื่อไขปริศนาหรือคลี่คลายปัญหาที่รุมเร้าตัวละคร เป็นการท้าทายชุดเรื่องเล่าแนวสัจนิยมที่โดดเด่น ความเหนือจริงที่ปรากฏในเรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องมีเพื่อยืนยันว่า เหตุผลไม่อาจเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่มนุษย์ ประสบ ในหลายๆครั้ง การฟังเสียงของความเชื่อ และศรัทธาในโลกแห่งจิตวิญญาณอาจนำเราไปสู่คำตอบอีกชุดหนึ่งซึ่งมีความหมาย ต่อชีวิตมากกว่า ศูนย์กลางของเรื่องเล่า ณ แดน บูรพทิศ ความสำคัญของอดีต ความทรงจำ และการดำรงอยู่ของตำนานในโลกสมัยใหม่เพิ่มกลิ่นอายของความเป็นเรื่องเล่าแนว หลังอาณานิคมที่ท้าทายชุดเรื่องเล่ากระแสหลักในปัจจุบัน”


-24 เรื่องสั้นของฟ้า” ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์
ที่ว่างและ ระยะห่างคือกลวิธีสำคัญในเรื่องสั้นของฟ้า พูลวรลักษณ์ งานของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านวิธีคิด การใช้ตรรกะแบบนักปรัชญา และภาษาที่เรียบง่ายลงตัว แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือการทิ้งระยะห่าง เล่นล้อกับพื้นที่ ความว่างเปล่า ความใกล้ไกลของเวลา ตั้งคำถามกับความจริง-ลวง และการดำรงอยู่ของมนุษย์

​กล่าวอีกอย่าง หนึ่งได้ว่า งานรวมเรื่องสั้นของฟ้า ไม่มุ่งแสวงหาความเป็นไปในวิถีทางโลก ไม่มุ่งวิพากษ์สังคมร่วมสมัยอย่างที่เป็นอยู่ แม้ทุกเรื่องจะเป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงมนุษย์ แต่เรากลับรู้สึกคล้ายสัมผัสจับต้องผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ในลักษณะอาการปกติ แต่ละเรื่องจึงฉายภาพความ อปกติของมนุษย์ด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติ สะท้อนถึงวิธีคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ของผู้เขียน

นอกจากนี้ กลวิธีการสร้างความรู้สึกว่างเปล่าเหินห่างในเล่ม ยังแสดงถึงความพยายามในการตอบคำถามเชิงอภิปรัชญาอันยิ่งใหญ่เวิ้งว้างและไร้ คำตอบ โดยอิงอยู่กับปรัชญาหลายแขนง ทั้งปรัชญาจากโลกตะวันออก ปรัชญาจากโลกตะวันตก และกระทั่งปรัชญาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงคลังความรู้ภายในตัวผู้เขียน เรื่องสั้นของเขาอาจมีรสไม่คุ้นชินสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานเขียนตามขนบของเรื่องสั้น แต่ให้รสแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

-เรื่องของเรื่อง” ของ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์

“นำเสนอปัญหาของชุมชนมากกว่าการเพ่งเล็งที่ปัญหาของปัจเจกบุคคลแต่ถ่ายเดียว ผู้เขียนนำเสนอภาพชีวิตของมนุษย์ที่รวมกลุ่มกันอยู่ภายใต้โครงสร้างความ สัมพันธ์ที่ถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเชื่อ ความทรงจำ และค่านิยมที่สืบต่อกันมาและไหลเวียนซึมซ่านอยู่ในชีวิตทางสังคมของเขาเหล่า นั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าศรัทธาและความเชื่อเป็นพลังสำคัญที่ผลักดันความ คิดและการแสดงออกของมนุษย์ โดยที่ศรัทธาและความเชื่อดังกล่าวยังเข้ามามีส่วนในกระบวนการก่อร่างอัต ลักษณ์ทั้งในระดับสถาบัน ชุมชน และปัจเจกบุคคลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของจิตสำนึก ร่วมทั้งในตัวบทและในบริบท

​ความโดดเด่นของเนื้อหาในรวมเรื่องสั้น ชุดนี้ยังอยู่ที่การนำเสนอวิถีชีวิตชนบทที่ดำรงอยู่ภายใต้แรงเหวี่ยงอัน ผันผวนปรวนแปรของสังคมสมัยใหม่กอปรกับการกดทับของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าชีวิตที่ดิ้นรนและเป็นไปในชนบทมีสาเหตุจากความเชื่อและความ ปรารถนาของมนุษย์ที่ชวนให้มีความหวังหรืออดสูสังเวชไม่ต่างกับเรื่องเล่า เกี่ยวกับเมืองใหญ่ที่พบมากในวรรณกรรมไทยในทศวรรษหลังนี้

​ในแง่ศิลปะการประพันธ์ เรื่องของเรื่อง แสดงให้เห็นศักยภาพของเรื่องเล่าในการนำเสนอความรู้สึกนึกเห็นของตัวละคร การก่อรูปของเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งอันมีฐานมาจากเรื่องเล่าเรื่องอื่นๆ ทั้งยังนำเสนอภาพและความคิดอันกลมกลืนผ่านจังหวะของการนำเสนอที่เหมาะสม ชวนให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามและใช้ความครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง”


--------------------------

สนใจ เคล็ดไทย