ความฝันของคนวิกลจริต : ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี


ความฝันของคนวิกลจริต

เขียน : ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี

แปล : มนตรี ภู่มี

สำนักพิมพ์ : สามัญชน

ราคา : 65 บาท (พิมพ์ครั้งที่สี่, 2545)

ถ้าใครสักคนฝันถึงโลกสวยงาม ดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุข ความแจ่มใสเบิกบาน ราวภาพวาดอันเลอเลิศที่ไม่น่าจะมีอยู่ในโลกใบนี้ นอกจากในจินตนาการเพี้ยนๆ ผิดรูปไปจากโลกแห่งความเป็นจริงแล้วละก็ สมควรแล้วใช่ไหมที่ใครคนนั้นควรจะถูกตราหน้าว่าเป็น “คนบ้า”

“ความฝันของคนวิกลจริต” คือเรื่องราวของเขา-ชายคนที่ถูกขนานนามว่าเป็นคนบ้าคนนั้น ซึ่งเขายิ้มแย้มน้อมรับต่อคำเรียกขานดังกล่าวด้วยความเต็มใจ

ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เปิดฉากเล่าเรื่องราวของชายวิกลจริตอย่างตรงไปตรงมา และค่อยๆ ไล่เรียงเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ของเขาแบบเปิดเปลือย รื้อค้นและถอนรากถอนโคนความคิดของมนุษย์ไปทีละนิดๆ แต่ละบท แต่ละตอนตรง แรง กระแทกใจ จนเราผู้อ่านอดไม่ได้ที่จะต้องหยุดพัก ทบทวนและพูดคุยกับตัวเองแทบทุกหน้า ทุกตอนของเรื่อง

“ผมเป็นคนวิกลจริตสิ้นดี จนบัดนี้ใครต่อใครต่างพากันเรียกผมว่า ‘อ้ายบ้า’ ไปแล้ว

มันออกจะเป็นการยกระดับสำหรับผมอยู่เช่นกันที่ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะของคนโง่เง่าเหมือนที่เป็นมา แต่ทว่าผมก็ไม่ได้ถือสาอะไร เพราะพวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลที่ผมรักใคร่ในยามนี้...”

เมื่อ “ผม” ในเรื่องเปิดฉากเรื่องราวมาเช่นข้างต้น ก็ทำให้เราเองอดไม่ได้ที่จะคิดว่าหมอนี่ต้องประหลาดจริงๆ อย่างแน่นอนที่ยอมรับความบ้าของตนเองอย่างหน้าชื่นตาบาน ทั้งยังคงรักคนที่ต่อว่าต่อขานตัวเองอย่างมีความสุขอะไรจะปานนั้น “ผม” ดำเนินเรื่องราวด้วยการเล่าย้อนคืนวันเก่าก่อน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ประหลาด ที่ความฝันของเขาได้เปิดโลกใบใหม่และทำให้เขาเข้าใจสัจธรรมในชีวิตที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง (หรือแท้จริงแล้ว ความฝันในโลกใบใหม่ คือความจริงที่อยู่ด้านในใจลึกๆ เสมอมา)

“ผม” เติบโตมาเหมือนเราๆ ท่านๆ ที่อาจพบได้ทั่วไปริมถนนหนทาง เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งตัวเรา ผู้ซึ่งทั้งชีวิตพยายามค้นหาความหมายในการมีอยู่แต่ไม่เคยเจอ จึงมีแต่ความดิ้นรน หม่นหมองโศกเศร้าและจมดิ่งกับด้านมืดของตัวเอง

“ผมเชื่อว่าได้รู้ชัดถึงความโง่งมในตัวเองเมื่ออายุสักเจ็ดขวบ ครั้งสมัยเริ่มเข้าเรียน แล้วระเรื่อยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะหรือ? ก็คือ ยิ่งเรียนมากขึ้นผมก็กลับรู้สึกโง่ลงถนัดใจ... และยิ่งเมื่อผมเข้าไปเรียนรู้วิทยาการทั้งหลายแหล่ ทั้งพิสูจน์ ทั้งทดลอง ทั้งอธิบาย การณ์กลับปรากฏแก่ตัวผมเองว่า ผมนี่ช่างเป็นคนโง่เง่าเอาเสียจริงๆ

ในชีวิตจริงของผมก็เช่นกัน ยิ่งวันเวลาผ่านไปในแต่ละปี ผมยิ่งรู้สึกโง่ลง... โง่ลงในทุกๆ เรื่อง

...

ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ผมก็ยิ่งรู้ว่าตนเองนั้นมันโง่บรมโง่ พอเป็นเช่นนี้แล้ว ผมกลับทำใจได้มากขึ้นเพราะอะไรก็ไม่รู้ ผมขอย้ำนะครับว่าเพราะอะไรก็ไม่รู้

คุณเอ๋ย! ก็จนทุกวันนี้ผมยังหาเหตุผลแท้จริงไม่ได้เลย...

บางทีอาจเป็นเพราะผมเลิกหวังเสียแล้วเกี่ยวกับโลกนี้- -โลกหน้า ทั้งๆ ที่ผมเคยสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานพอดู แต่แล้วเมื่อปีกลายนี้เองที่ผมปลงตกอย่างสนิทใจ ‘ไม่มีอะไรสักสิ่งเป็นแก่นสาร’ ผมพลันรู้สึกว่าคงไม่มีอะไรแตกต่างสำหรับผมเลย ไม่ว่ามันจะมีโลกหน้า หรือโลกไหนๆ ก็ตามที”

(หน้า 20-21)

เมื่อ “ผม” ไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับใครต่อใครได้ จึงคิดวางแผนที่จะฆ่าตัวตาย แต่ด้วยเพราะเด็กผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่งข้างถนน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเขาเลยได้ผ่านเข้ามาเพียงเสี้ยวเวลาเล็กๆ เวลาหนึ่ง แต่ด้านในของเขาและความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี ได้ตั้งคำถามต่างๆ นานาต่อการมีชีวิตอยู่ และจากชั่วเวลาเล็กๆ นั้นเองที่เป็นต้นตออันก่อให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดฝัน และเปลี่ยนโลกทั้งใบของเขาให้พ้นไปจากภาวะที่เคยมีมาตลอดช่วงชีวิต

มันคือความฝันเห็นโลกอีกใบหนึ่ง ต่างไปจากโลกที่ “ผม” เคยอยู่อย่างสิ้นเชิง

“...ทุกสิ่งทุกอย่างในที่นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับบนโลกของเราไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันก็เพียงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในที่นี้เต็มไปด้วยบรรยากาศแจ่มใสเริงร่า คล้ายวันพักผ่อนอันแสนสุขสงบและเปล่งประกายสูงสง่าราวกับเป็นดินแดนที่มีความเป็นมาอย่างยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์กระนั้น

คลื่นจากท้องทะเลสีเขียวมรกตโยตัวเข้าหาฝั่งอย่างสงบนุ่มนวลราวกับสัมผัสลูบไล้จากมืออันละมุนละไมของคนรัก

พันธุ์ไม้น้อยใหญ่ชูกิ่งก้านสล้างอยู่ท่ามกลางมวลหมู่ดอกไม้นานาชนิด ใบของมันสะบัดพลิ้วจนเกิดเสียงเสียดสีกันอย่างแผ่วเบาราวกับพวกมันกำลังพึมพำกล่าวทักทายต้อนรับผมด้วยถ้อยคำอ่อนหวานระรื่นหู

...

แล้วในที่สุด... ผมก็ได้พบเห็นผู้คนบนดินแดนอันแสนรื่นรมย์หรรษาแห่งนี้...”

(หน้า 49)

…พวกเขาไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น และมีความสุขความพึงใจ ไม่ดิ้นรนไขว่คว้าอยากจะรู้จักชีวิตอย่างที่พวกเราใฝ่หาประสบการณ์ชีวิตกันนักหนา เพราะว่าชีวิตของพวกเขานั้นบรรลุถึงจุดสมบูรณ์แล้ว

ความรู้ของพวกเขาละเอียดลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าความรู้ที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ของเรา เพราะวิทยาศาสตร์พยายามใช้เหตุผลหาความหมายของชีวิต วิทยาศาสตร์จึงพยายามทดลองที่จะหยั่งความลึกล้ำนั้นเพื่อหาคำตอบว่าชีวิตควรจะดำเนินไปอย่างไร ขณะที่ผู้คนที่นี่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรด้วยตัวเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยวิทยาศาสตร์มาช่วยเหลือเกื้อกูลเลย...”

(หน้า 54)

“ผม” ได้ก้าวเข้าสู่โลกในฝันใบใหม่ที่สัมผัสได้จริงจนรู้สึกได้ และส่งผลกระเทือนมาสู่ชีวิตจริงหลังจากตื่นขึ้นมาบนโลกใบเดิม และแล้วทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป

หน้าปกหนังสือเล่มนี้ มีคำอธิบายต่อท้ายเรื่องไว้ว่า “ความฝันของคนวิกลจริต : ภาพสะท้อนภาวะแห่งปรารถนาถึงดินแดนอุดมคติ” ที่เชื่อได้ว่า เมื่อเราได้ติดตาม “ผม” ในเรื่องไปสู่ดินแดนอุดมคติดังกล่าว เราจะซาบซึ้งและอยากให้เกิดโลกอุดมคตินั้นอย่างจริงจังในโลกที่เราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่...เครื่องมือใดเล่า วิธีการใดหรือ...ที่จะนำพาเราไปสู่โลกอุดมคตินั้นได้ หรือแม้แต่จะนำพาโลกอุดมคติอันแสนสวยงามนั้นมาสู่ตัวเราได้...ทางใดกัน

ดอสโตเยฟสกีทำให้ “ผม” ได้ค้นพบความหมายบางอย่าง จนเกิดศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อความดีงามที่มีอยู่จริง และดังนั้น เขาจึงอุทิศชีวิตทั้งหมด เพื่อสิ่งดีงามอันเป็นอุดมคติซึ่งเกินกว่าจิตใจที่หยาบกระด้างจะเข้าใจถึงมันได้ (แต่ทุกคนต่างฝันใฝ่ถึงมันอยู่ทุกนาที)

“…

ผมได้เห็นสัจธรรมความเป็นจริง ผมได้เห็นมัน และผมรู้ว่า...

คนเรานั้น สามารถที่จะมีความงามและความสุขได้โดยไม่สูญเสียความสามารถที่จะดำรงอยู่ในโลกนี้

ผมไม่เชื่อ และจักไม่เชื่อว่าความชั่วร้ายเป็นสันดานดิบตามธรรมชาติของมนุษย์…”
(หน้า 76)

“...สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สวรรค์นี้เกิดเป็นจริงได้นั้นง่ายมาก ในชั่ววันเดียวหรือ ‘ในชั่วโมงเดียว’ เท่านั้น สิ่งนั้นก็คือ

‘จงรักผู้อื่นเหมือนกับที่รักตัวเอง’

แค่นี้เอง ไม่มีอย่างอื่น ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากไปกว่านี้จริงๆ ...

...เป็นความจริงที่มีมาช้านานชั่วกัปชั่วกัลป์ เป็นสิ่งที่พูดกันซ้ำซาก อ่านกันจำเจเป็นแสนๆ เป็นล้านๆ ครั้ง แต่ไม่มีการปฏิบัติให้เข้าถึงแก่นกันสักที...”

(หน้า 78)

ดอสโตเยฟสกี ชวนให้เราขบคิดและมองให้ข้ามพ้นจากแก่นสารที่เรารับรู้กันไปอีกระดับหนึ่ง ด้วยการส่งถ้อยคำตรงดิ่งมาเคาะที่เปลือกหุ้มหัวใจของเราว่า...

“สิ่งที่พวกเราต้องร่วมกันคัดค้านต่อต้านก็คือ ความคิดความเชื่อที่ว่า

สำนึกแห่งชีวิตนั้นสำคัญกว่าชีวิต ความรอบรู้เรื่องกฎแห่งความสุขสำคัญยิ่งกว่าความสุข

ก็ใช่หรือไม่เล่า! ที่เรามักละเลยความสุขที่แท้จริง

แล้วกลับให้ค่า ให้ความสำคัญต่อวิธีการ ต่อรูปแบบมากกว่าความสุขที่มันอาจได้มาอย่างง่ายๆ ในโลกใบเดิมที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน...

ในหมายเหตุของนักแปล ซึ่งเขียนไว้เมื่อพิมพ์ครั้งที่สองตอนหนึ่งระบุไว้ว่า...

“อาร์โนลด์ ทอยบี (Arnold Toybee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า

“เรามี ‘ความรู้’ มากกว่าบรรพบุรุษของเรา แต่นั่นมิได้หมายถึงว่า เรามี ‘ความเข้าใจ’ มากกว่า”

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าถ้าเราปรารถนาจะ ‘เรียนรู้’ มนุษย์ทั้งในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกต่อความรัก ความชัง ความกลัว ความอิจฉาริษยา และเกียรติยศศักดิ์ศรีแล้วเราจะไม่พบพานสิ่งนี้ในตำราจิตวิทยาเลย หากแต่จะสามารถรับรู้รสอารมณ์ความเป็นมนุษย์เหล่านี้ได้ในเนื้องานวรรณกรรมของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย เช่น ดอสโตเยฟสกี...”

ดังนี้แล้ว เมื่อมีวรรณกรรมดีๆ ขนาดกระทัดรัด เล่มไม่ใหญ่ไม่โตให้ต้องหนาวเหน็บ แต่ให้เนื้อหาและคุณค่าที่ตกผลึกของนักเขียนยิ่งใหญ่ระดับโลกเช่นนี้มาถึงมือได้อย่างง่ายๆ แล้วละก็ สมควรละหรือที่เราจะพลาดมันไปได้...

แนะนำโดย : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

เหมาะสำหรับ : ใครที่สนใจเรื่องราวการค้นหาความหมายของชีวิต ใครที่สูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อโลกอันดีงาม อ่านเพื่อสัมผัส รับรู้และตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติซึ่งในวัยเยาว์เราอาจเคยฝันถึง ซึ่งพอถึงวันที่เราซับซ้อนมากขึ้น เรากลับทอดทิ้งโลกใบนั้นให้ห่างไปจากจิตใจของเราทุกที- -ทุกที ลองมารื้อฟื้นความจริงในโลกอีกใบหนึ่งที่เราเคยเห็นมันและเชื่อมั่นมันให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกสักครั้ง