ธิเบตที่อินเดีย : พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร


ธิเบตที่อินเดีย

เขียนโดย : พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร

ดำเนินการผลิตโดย : บริษัท ส่องศยาม จำกัด

ราคา : 180 บาท

ก่อนสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ที่สนใจข่าวสารของชาวธิเบตคงได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการประกาศสละตำแหน่งผู้นำทางการเมืองในรัฐบาลพลัดถิ่นของธิเบต ซึ่งจะคงไว้แต่เฉพาะตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวธิเบตทั่วโลก

ภาพข่าวที่ปรากฏในสื่อตลอดมาตั้งแต่เราเคยได้ยินชื่อของธิเบต เราก็มักจะเห็นภาพอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตากรุณาของท่านดาไล ลามะเสมอมาเฉกเช่นเดียวกับภาพข่าวในปัจจุบันนี้ ที่แม้พระองค์ต้องลี้ภัยอยู่นอกประเทศถึง 52 ปีมาแล้วก็ตาม

การประกาศสละตำแหน่งในเดือนมีนาคมนี้ นับมีนัยสำคัญอย่างที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวธิเบตจะได้รำลึกถึงบรรพบุรุษที่เสียสละลุกขึ้นต่อต้านชาวจีนที่เข้ามารุกรานประเทศ

หนังสือ ธิเบตที่อินเดีย ได้บอกเล่าเรื่องราวนี้โดยสังเขป ดังนี้

วันที่ 10 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่มีความหมายยิ่งสำหรับชาวธิเบตทุกคน เพราะเป็นวันที่รัฐบาลธิเบตกำหนดให้เป็น วันเรียกร้องเสรีภาพแห่งชาติธิเบต (Tibetan National Uprising Day) ก็ด้วยสืบเนื่องมาจากวันที่ 10 มีนาคม 2502 ชาวธิเบตทุกสาขาอาชีพได้ออกมารวมตัวกันที่กรุงลาสาเป็นจำนวนมหาศาล ชนิดที่เรียกว่าไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติธิเบต เพื่อขับไล่ทหารจีนที่เข้ามารุกรานเพื่อหวังยึดครองธิเบต

(หน้า 71)

ในหนังสือเล่มนี้ ยังได้บอกเล่าเรื่องราวโดยกว้างของชาวธิเบตที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย โดยผู้เขียน พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลจากทั้งเอกสารต่างๆ และการเดินทางไปสถานที่จริง เพื่อนำข้อมูลมาเรียบเรียงให้เราได้รับรู้ถึงความเป็นอยู่ของชาวธิเบตในประเทศอินเดียในแง่มุมต่างๆ แม้เนื้อหาในหนังสือจะไม่ได้เจาะลึกในประเด็นในประเด็นหนึ่งอย่างลึกซึ้ง แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการเปิดฉากให้เราได้ทำความรู้จักกับธิเบตในแง่มุมพื้นฐานเพื่อจะได้ทำความรู้จักและลงลึกด้านความเข้าใจต่อไปในอนาคต

นอกจากการสำรวจตรวจสอบความเป็นอยู่ ความศรัทธาของชาวธิเบตในเมืองต่างๆ อันได้แก่ พุทธคยา สารนาถ ดาร์จีลิ่ง กะลิมพง ธรรมศาลา และเดลีแล้ว ผู้เขียนยังได้อธิบายถึงวิธีการเดินทาง การเข้าเยี่ยมชม หรือท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่น่าสนใจของชาวธิเบตในแต่ละเมืองที่กล่าวถึงด้วย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนหนังสือกึ่งสารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนา โดยเน้นหนักไปทางศาสนาเพราะผู้เขียนเป็นพระสงฆ์ไทยที่สนใจศึกษาวิจัยเรื่องราวของศาสนาเปรียบเทียบ และศึกษาความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาแบบธิเบตของชาวธิเบตทั่วโลกนั่นเอง

คำถามสำคัญที่ผู้เขียนตั้งไว้และต้องการหาคำตอบคือ เหตุใดชาวธิเบตที่อยู่กระจายกันทั่วโลกยังยึดมั่นคำสอนทางศาสนาแบบธิเบต และยังเชื่อมั่นต่อความเป็น ชาติธิเบตของตนอย่างเหนียวแน่นแม้ว่าวันนี้จะไม่สามารถกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิของตนได้ แน่นอนว่าคำตอบที่ผู้เขียนต้องการ ไม่สามารถหาได้จากเพียงคนๆ เดียว หรือการกระทำเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มันหมายรวมถึงหลายสิ่งหลายจากประกอบกัน ทั้งจากการแสดงออกทางคำพูดและการกระทำ รวมไปถึงแววตา สีหน้า ท่าทาง ฯลฯ ที่พวกเขามีเหมือนๆ กัน

สำหรับชาวธิเบตนั้น แม้พลัดถิ่นหรือพลัดประเทศ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรักชาติของตนลดลง พูดถึงความรักชาติธิเบตที่ชาวธิเบตมีต่อประเทศของตน เมื่อตอนที่เดินทางไปเมืองดาร์จีลิ่งครั้งที่สองเมื่อปี 2550 (2553 ครั้งที่ 3) ซึ่งเมืองนี้มีชาวธิเบตพลัดถิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มธิเบตอายุประมาณยี่สิบกว่าที่ถนนเนห์รู (ถนนสั้นๆ ประมาณ 500 เมตร) ซึ่งเป็นถนนแหล่งชอปปิ้งสำคัญของเมืองนี้

การพูดคุยครั้งนี้ ผู้เขียนได้ถามเขาว่า เขาเกิที่เมืองดาร์จีลิ่งหรือธิเบต? (Where you born in Darjeeling or Tibet?) ชายหนุ่มคนนี้ตอบอย่างหนักแน่นว่า สถานที่เกิดของผมคือเมืองดาร์จีลิ่งนี่แหละ แต่ว่าผมเกิดที่ธิเบต (My birth-place is Darjeeling but I was born in Tibet.)

(หน้า 177)

แนะนำโดย : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

เหมาะสำหรับ : คนที่อาจจะยังไม่เคยมีความรู้ในแง่มุมพื้นฐาน เช่น ชาวธิเบตต้องลี้ภัยมาจากแผ่นดินเกิดเมื่อไร หรือชาวธิเบตพลัดถิ่นในประเทศอินเดียตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะธรรมศาลา เมืองที่องค์ดาไล ละมะทรงประทับอยู่นั้น มีความเป็นอยู่ของตนเองเช่นไร มีโรงเรียน และมีรัฐบาลพลัดถิ่นอย่างไร ฯลฯ หนังสือเล่มนี้จะพาไปสำรวจข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ด้วยการบอกเล่าในสิ่งที่พบเห็น

สนใจ เคล็ดไทย