อ่านติช นัท ฮันห์ อ่านธรรมะ อ่านลมหายใจ อ่านความเข้าใจในชีวิต

อ่าน “ติช นัท ฮันห์”

อ่านธรรมมะ อ่านลมหายใจ

อ่านความเข้าใจในชีวิต

แนะนำโดย : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

แม้ทุกวันนี้จะมีหนังสือธรรมะมากมายที่เขียนขึ้นโดยหลากหลายผู้ประพันธ์ให้เลือกอ่าน เพื่อทำความเข้าใจต่อการใช้ชีวิต การอยู่อย่างมีสติ หรืออ่านเพื่อค้นหาจิตวิญญาณด้านในแห่งตนเพื่อความสุขที่แท้จริงท่ามกลางความวุ่นวาย ต่อสู้ดิ้นรนในโลกปัจจุบันก็ตาม แต่หนังสือของพระเวียดนาม “ติช นัท ฮันห์” ท่านนี้ก็ยังคงครองหัวใจผู้อ่าน และผู้ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานมาหลายสิบปีแล้ว

หากใครได้เคยอ่าน “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” มาบ้างแล้ว ย่อมทราบดีว่า งานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ ใช้ภาษาที่เรียบง่ายเพื่อการปฏิบัติที่แท้จริง และส่วนใหญ่แล้วท่านติช นัท ฮันห์ สอนธรรมะให้แก่เราโดยการเชื่อมโยงการวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตในปัจจุบันขณะอย่างไม่ต้องแบ่งแยกว่า ช่วงเวลานี้จะต้องแบ่งให้กับการภาวนา ช่วงเวลานี้เป็นช่วงการทำงาน ฯลฯ แต่ท่านได้สอนเราแสมอว่า เราสามาถทำความเข้าถึงธรรมะได้ที่นี่ และเดี๋ยวนี้เมื่อเรามีสติ กำหนดรู้ตัวตนอยู่เสมอ

ขณะเดียวกันหนังสือ “สันติภาพทุกย่างก้าว” และ “ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด” ก็ถือเป็นหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ อีกสองเล่มที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นอ่านงานเขียนของท่านได้อย่างดีอีกเช่นกัน

สำหรับ “สันติภาพทุกย่างก้าว” นั้น แต่ละบทแต่ละตอนเขียนขึ้นอย่างสั้นๆ กระชับ แต่ตรงประเด็นและเชื่อมโยงกัน เพื่อน้อมนำความเข้าใจของเราไปสู่การฝึกมีสติ และมีความสุขสงบด้านในอย่างแท้จริง ดังในบทเริ่มต้นที่ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนไว้ว่า

“หนังสือเล่มน้อยนี้เปรียบเสมือนระฆังแห่งสติ ที่กำนัลมาเพื่อเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่า ความสุขจะมีอยู่ในขณะปัจจุบันเท่านั้น จริงอยู่การวางแผนเพื่ออนาคตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่การวางแผนนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ในขณะปัจจุบันเท่านั้น หนังสือเล่มนี้คือคำเชิญชวนให้กลับสู่ขณะปัจจุบัน เพื่อสัมผัสกับความสงบและความชื่นบาน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ฉันจะนำเสนอประสบการณ์และวิธีการบางอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์ แต่โปรดอย่ารอจนกว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้จบจึงค่อยหาความสงบเย็น ความสงบสุขมีอยู่แล้วในทุกขณะ สันติมีอยู่แล้วในทุกย่างก้าว เราจะเดินจูงมือกันไป...” (หน้า 30, สันติภาพทุกอย่างก้าว)

หากกล่าวถึงเฉพาะหนังสือ “สันติภาพทุกย่างก้าว” นั้น เคยมีผู้อ่านท่านหนึ่งได้บอกให้ฟังว่า เธอสามารถเปลี่ยนความเครียดขึ้งในใจ ผ่อนคลายและรู้จักการฝึกลมหายใจก็ได้ด้วยหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับหนังสือ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” และ “ปัจจุบันเป็นเวลาอันประเสิรฐสุด” ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ ได้เคยกล่าวถึงในคำนำของหนังสือเล่มหนึ่งว่า

“...ท่านพุทธทาสก็ชื่นชมงานของท่านนัท ฮันห์ ตั้งแต่เล่มแรกที่แปลสู่ภาษาไทยคือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประเสิรฐสุด ซึ่งท่านขอให้พระผู้อุปัฏฐากอ่านให้ท่านฟังยามอาพาธครั้งหลังสุดอยู่เนืองๆ จนก่อนจะหมดสติไป ดังท่านว่า “สิงห์ทอง อ่านเล่มนี้แล้วปฏิบัติตามนี้ก็พอ เราเองก็จักปฏิบัติตามนี้”...”

(จากหนังสือ สันติภาพทุกย่างก้าว,หน้า 6, คำนำ โดย ส.ศิวรักษ์)

บ่อยครั้ง งานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ ก็พูดเรื่องธรรมดาสามัญมากๆ ที่เราไม่เคยย้อนมองมัน แต่กระทบจิตใจได้ดีเหลือเกิน ดังในหนังสือ “ปัจจุบันเป็นเวลาประเสิรฐสุด”

“เรามักวุ่นๆ กันจนลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางคนบอกว่าเขาลืมหายใจ เราลืมมองคนที่เรารักและเห็นคุณค่าของเขาจนสายเกินไปเสียแล้วก็มี แม้ขณะเรามีเวลาว่าง เราก็ไม่รู้จักว่าจะทำความรู้จักกับสิ่งที่เป็นไปภายในและภายนอกตัวเรา เองอย่างไรเราก็เลยเปิดโทรทัศน์ หาไม่ก็หมุนโทรศัพท์ ดังกับให้มันช่วยเราหนีไปจากตัวตนของเรา การภาวนาคือการรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในร่างกายของเราในความรู้สึกของเรา ในจิตใจของเรา และในโลกด้วย เมื่อเราสงบอยู่กับขณะปัจจุบัน เราย่อมและเห็นได้ซึ่งความงามและความอัศจรรย์ซึ่งประจักษ์อยู่ต่อหน้าเรา ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ จะเป็นทารกเกิดใหม่ หรือพระอาทิตย์แรกขึ้น เราอาจมีความสุขได้ ถ้าเรารู้จักรับรู้กับสิ่งที่ปรากฎเฉพาะหน้าของเรา”

หนังสือแต่ละเล่มแตกต่างและเหมาะกับผู้อ่านในการเริ่มต้นแตกต่างกัน บางคนอาจชอบหรือกระทบใจกับบางเล่มมากกว่า แล้วจึงค่อยเพิ่มพูนความรู้ ขยายขอบเขตความเข้าใจไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ ของท่านติช นัท ฮันห์ สำหรับหนังสือ “ศานติในเรือนใจ” นับเป็นอีกเล่มหนึ่งที่หลายคนสัมผัสได้ดีในแง่การปฏิบัติ เพราะในหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่าง ประสบการณ์จริง และถ่ายทอดออกมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้อย่างแจ่มกระจ่างด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยน โดยเนื้อหาแก่นแท้ของหนังสือแล้ว อาจไม่ต่างจาก 3 เล่มด้านบนที่กล่าวถึง แต่ภายในศานติในเรือนใจนี้ ได้ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น แต่ละบทแต่ละตอนมีความยาวมากกว่า แต่ก็ยังคงอ่านง่าย และสอนให้เรามีสติและเบิกบานอยู่กับทุกขณะเวลาของชีวิต

“...โปรดจูงมือลูกชายหรือลูกสาวตัวเล็กๆ ของเธอเดินไปในสวนอย่างข้าๆ เธออาจจะแปลกใจเมื่อพบว่า ในขณะที่เธอกำลังรื่นรมย์กับแสงแดด ต้นไม้และนกอยู่นั้น ลูกของเธอกลับรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาเล็กน้อย คนหนุ่มสาวทุกวันนี้เบื่ออะไรง่ายๆ พวกเขาเคยชินกับโทรทัศน์ เกมวิดีโอนินเทนโด ตุ๊กตาสงคราม เสียงเพลงดังๆ และความตื่นเต้นในแบบอื่น เมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็จะต้องขับรถเร็วๆ หรือลองดื่มเหล้า สูบยา มีเพศสัมพันธ์หรือสิ่งสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจของเขาเครียด เราเองซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็พยายามที่จะเติมความเหงาของเราให้เต็มด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้เช่นกัน และพวกเราทุกคนต่างก็ทุกข์ทรมาน เราจะต้องสอนตัวเองและลูกๆ ให้เห็นคุณค่าของความสดชื่นรื่นเริง ความสนุกสนานอย่างง่ายๆ ซึ่งมีอยู่แล้ นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในสังคมที่ซับซ้อนและวุ่นวายยุ่งเหยิง แต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับความอยู่รอดของเรา จงนั่งบนพื้นหญ้ากับลูกชายหรือลูกสาวตัวเล็กๆ ของเธอ ชี้ไปที่ดอกไม้สีเหลืองและน้ำเงินดอกเล็กๆ ซึ่งงอกงามขึ้นท่ามกลางต้นหญ้า และดื่มด่ำกับปาฏิหาริย์เหล่านี้ร่วมกัน การให้การศึกษาเกี่ยวกับศานติเริ่มได้จากโอกาสนี้แหละ” (หน้า 80-81)

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือ “ดวงตะวันดวงใจฉัน ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วยปฏิบัติสมาธิภาวนาที่โน้มนำให้เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีสติ รู้เท่าทันปรากฎการณ์ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน ตามหลักธรรมทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งผู้ที่ได้ศึกษาผลงาน วิธีคิด และวิธีปฏิบัติธรรมของท่านนัท ฮันห์ มาบ้าง จะพบว่าหัวใจของการปฏิบัติธรรมที่ท่านพยายามสั่งสอนก็คือ “การเจริญสติภาวนาในทุกอริยาบถทุกกิจกรรมแห่งชีวิต” ซึ่งเป็นแก่นหลักใจความสำคัญของการสอนของท่านติช นัท ฮันห์

สำหรับใคที่ต้องการเพิ่มความเข้าใจในการฝึกฝนตนเองให้กว้างกว่าเดิม ในประเด็นที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในการทำงาน การใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว แม้แต่กับคนที่เรารักก็ตาม เรามักเกิดความโกรธและไม่พอใจในบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ หนังสือ “ความโกรธ : ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ” ชวนให้เราทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งรูปแบบ ที่มา และอาการที่โกรธ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงความโกรธที่รุนแรง แต่ความรู้สึกไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ นั่นก็บ่มเพาะเชื้อความโกรธขึ้นแล้ว (อยู่เสมอ) ในตัวตนแห่งเรา การแก้ปัญหาความโกรธนั้นอยู่ที่สติ อยู่ที่ความกรุณา อยู่ที่ตัวเราในขณะปัจจุบันที่จะแก้ไขให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

“...ถ้าเธอมีปัญหากับอีกฝ่าย คิดว่าเขาต้องการจะทำให้เธอทุกข์เพียงอย่างเดียว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะช่วยเขา นั่นแสดงว่าเธอไม่ได้น้อมนำคำสอนไปปฏิบัติ ถ้าดูเหมือนว่าไม่มีทางที่เธอจะพูดคุยกับคนคนนั้นได้แล้วละก็ นั่นเป็นเพราะเธอขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติ เป็นไปได้ที่เธอจะพูดคุยกับคนคนนั้น หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “จะทำอย่างไร ถ้าอีกฝ่ายไม่ให้ความร่มมือ ไม่ต้องการรับฟัง” ถ้าอีกฝ่ายไม่ต้องการรับฟัง พูดคุย หรือร่วมมือกับเธอในตอนนี้ ขอให้เธอปฏบัติและเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไป แล้วเธอก็จะคืนดีกันได้...”

(หน้า 137-138)

เนื้อหาหนังสือ “ความโกรธ : ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ” เป็นดังชื่อหนังสืออย่างแท้จริง ท่านติช นัท ฮันห์สอนให้เรารู้จักกำหนดตัวเอง กำหนดลมหายใจ มีเวลาอยู่กับปัจจุบันขณะเพื่อจัดการกับความโกรธ ดับมันด้วยความรู้เท่าทันอย่างอ่อนโยนไม่กราดเกรี้ยว

ยังมี วิถีแห่งบัวบาน : บทภาวนาเพื่อการบำบัดและการเปลี่ยนแปร หนังสือที่มีการพิมพ์ซ้ำที่เหมาะต่อการภาวนา ฝึกฝนตนเอง เพราะด้วยการฝึกฝนและรู้จักมองอย่างลึกซึ้งนี่เอง ผู้ภาวนาจักเกิดญาณทัศนะ (ปรัชญา) หรือปัญญาญาณ ซึ่งทัศนะเช่นนี้มีพลังที่ปลดปล่อยเราจากทุกข์และพันธะ ในวิถีของการภาวนานั้นโซ่ตรวนจักถูกคลายปมทุกข์ภายใน เช่น ความกลัว ความโกรธ ความท้อแท้สิ้นหวัง และความเกลียดชังจะถูกเปลี่ยนแปร ความสัมพันธ์กับมุนษย์และธรรมชาติจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อนอิสรภาพและความเบิกบานจักปรากฎเราจะตระหนักถึงสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราและรายรอบตัวเรา เราจักสดชื่นขึ้น มีชีวิตชีวาต่อการดำรงอยู่ในแต่ละวัน เมื่อเรามีอิสระมากขึ้น มีความสุขมากขึ้นเราก็จะหยุดกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและเราจักสามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สรรพสิ่งรอบๆ ตัวเราและช่วยให้ผู้อื่นเป็นอิสระเช่นกัน

และหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ง่ายต่อการฝึกฝน แนะนำการปฏิบัติด้านการภาวนาได้อย่างลึกซึ้งและเป็นจริง หลายคนนิยมอ่าน “เดิน : วิถีแห่งสติ” หนังสือเล่มบางที่สามารถพกพาเพื่อนำไปในชีวิตประจำวัน

“จุดสำคัญก็คือ การเดินโดยไม่มีการไปถึง การเดินจงกรมไม่ใช่วิธีการ แต่คือเป้าหมาย แต่ละก้าวคือชีวิต แต่ละก้าวคือความสันติสุข”

เมื่อเราได้อ่านหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ เพื่อการฝึกฝนตนแล้วนั้น เราสามารถปรับระดับการทำความเข้าถึงพุทธศาสนาไปได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งท่านติช นัท ฮันห์ ก็ได้ประพันธ์หนังสือเช่นที่ว่าไว้หลายสิบเล่ม โดยมีส่วนหนึ่งท่านได้นำคำสอนของพระพุทธเข้ามาอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ดังเช่นหนังสือ “เพชรตัดทำลายมายา” ซึ่งเป็นหนังสือที่ท่านได้อรรถาธิบาย “วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร”

ปรัชญาปารมิตา หมายถึง ปัญญาบารมี หรือ ปัญญาอันเลิศ ซึ่งเป็นปัญญาที่จะนำเราข้ามห้วงสมุทรแห่งความทุกข์ไปสู่ฝั่งโน้น ในเพชรตัดทำลายมายานี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุสุภูติสาวกของพระองค์ได้สอนให้เราได้รู้วิธีมองข้ามทวิลักษณ์แห่ง โลก เพื่อจะได้เข้าถึงความจริงอันลึกซึ้งอัศจรรย์ภายในตัวเรา และทุกสิ่งรอบๆ ตัวเรา และท่านติช นัท อันห์ ยังได้อรรถาธิบายอย่างลุ่มลึก มีชีวิตชีวา ทำให้เราได้เห็นว่า ปัญญา ซึ่งท่านเรียก วิภาษวิธีแห่งปรัชญาปารมิตานี้ ทำให้เราเข้าถึง และเคารพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้ ท่านประยุกต์พุทธรรมเข้ากับประสบการณ์ของเรา ให้ตัวอย่างที่ปฏิบัติได้ทั้งในชุมชน ชีวิต ครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตลอดจนการรับใช้สังคม (ปกหลัง)

ใน “เพชรตัดทำลายมายา” ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ภาคด้วยกัน คือ วิภาษวิธีแห่งปรัชญาปารมิตาสูตร, ภาษาแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่น, คำตอบอยู่ในคำถาม และ ภูเขาและแม่น้ำคือร่างกายเรา โดยในแต่ละภาคมีบทย่อยๆ ให้เราทำความเข้าใจ และเรียนรู้ไปอย่างช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบ

และสำหรับชาวพุทธศานิกชนทุกคน แนะนำให้มีหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่”ไว้เพื่อการรำลึกถึงพระมหากรุณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ ด้วยท่านติช นัท ฮันห์ ได้ทรงเรียบเรียงพระประวัติของพระพุทธเจ้าด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เป็นงานพุทธประวัติที่อ่านทำความเข้าใจและเห็นภาพได้อย่างลึกซึ้ง โดยหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์แบ่งออกเป็น 3 เล่มด้วยกัน ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงประสูต ตรัสรู้ และปรินิพพาน

ในปกหลังของหนังสือเล่มที่สามเขียนได้ว่า “คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ ช่วยนำพาผู้อ่านท่องเที่ยวไปในครั้วพุทธกาล ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมของพระองค์ ส่วน “ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม” หรือ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ได้แค่ไหนเพียงใด ก็สุดแท้แต่ศรัทธาและปัญญาของแต่ละคน และนั่นเองคือจุดสุดยอดที่ท่านผู้ประพันธ์ปรารถนาจะให้ผู้อ่านได้รับ”

ในเล่มที่ 2 ของ “คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่” นั้น เป็นเล่มที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมหลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้และเดินทางโปรดสัตว์ไปทั่วแคว้นต่างๆ ขอยกตัวอย่างบางส่วนของบทที่ 42 “ความรักคือความเข้าใจ” (หน้า 109-118) ท่านติช นัท ฮันห์ได้บรรยายได้อย่างละเอียดละออถึงความรักที่กว้างใหญ่ ไม่ยึดติด ซึ่งเป็นบทตอนที่พระพุทธเจ้าได้แสงธรรมให้กับพระเจ้าปเสนทิกษัติรย์ที่ไปเข้าเฝ้าพระองค์เพียงลำพัง

พระเจ้าปเสนทิได้ทรงถามพระพุทธเจ้าดังนี้

“…พระศาสดาโคดม ชาวเมืองพากันเล่าลือว่า พระองค์ทรงสอนมิให้คนมีความรัก พวกเขาพูดว่า พระพุทธเจ้ายังสอนว่า ยิ่งบุคคลมีความรักมากเท่าไร เขาก็ยิ่งจะมีความทุกข์ ความผิดหวัง มากขึ้นเท่านั้น หม่อมฉันสามารถเห็นความจริงบางอย่างในคำสอนนั้น แต่หม่อมฉันไม่สามารถพบความสงบกับคำสอนเช่นนี้ ปราศจากความรัก ชีวิตเหมือนว่างเปล่าจากความหมาย โปรดช่วยหม่อมฉันแก้ปัญหานี้เถิด”

พระตถาคตทรงทอดพระเนตรพระราชาอย่างอบอุ่น “มหาบพิตร พระราชปุจฉาของพระองค์นั้นดีมาก คนทั้งหลายย่อมได้รับประโยชน์จากคำถามนี้ ความรักมีหลายประเภท เราควรศึกษาธรรมชาติของความรักแต่ละประเภทให้ถ่องแท้ ชีวิตย่อมต้องการความรักอย่างมาก แต่มิใช่ความรักที่อยู่บนฐานของราคะตัณหา ความยึดติด ความแบ่งแยก และอคติ มหาบพติร ยังมีความรักอีกประเภทหนึ่ง เป็นความรักที่มีความสำคัญยิ่งนัก ความรักนี้ประกอบด้วยความปรารถนาดีและความต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือที่เรียกว่า เมตตาและกรุณา”

“...เมตตาคือความรักที่จะนำความสุขมาให้ผู้อื่น กรุณาคืความรักที่จะช่วยจัดทุกข์ให้แก่ผู้อื่น เมตตา-กรุณาไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน เมตตา-กรุณาไม่จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะแต่พ่อแม่ คู่ชีวิต ลูกหลาน ญาติพี่น้อง คนวรรณะเดียวกัน และเพื่อนร่วมชาติ เมตตา-กรุณาขยายขอบเขตสู่มวลมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ในเมตตา-กรุณาไม่มีการแบ่งแยก ไม่มี ‘ของฉัน’ หรือไม่มี ‘ไม่ใช่ของฉัน’ และเพราะไม่มีการแบ่งแยก จึงไม่มีการยึดติด เมตตา-กรุณาสร้างสุขบรรเทาทุกข์ ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์และความผิดหวัง ปราศจากเมตตา-กรุณา ชีวิตจะว่างเปล่าจากความหมายดังที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ หากมีเมตตา-กรุณา ชีวิตเต็มเปี่ยมด้วยศานติ ความเบิกบาน และความพึงพอใจ มหาบพิตร พระองค์เป็นผู้ปกครองราชอาณาจักร พสกนิกรทั้งปวงของพระองค์จะได้รับประโยชน์จากการบำเพ็ญเมตตา-กรุณาธรรมของพระองค์”

พระราชาทรงก้มพระเศียรตรึกตรอง แล้วทรงแหงนพระพักตร์ขึ้น ตรัสถามพระพุทธเจ้าว่า “หม่อมฉันมีครอบครัวอยู่ในความดูแล และมีอาณาจักรอยู่ในความปกครอง หากหม่อมฉันไม่รักครอบครัวและประชาราษฎรแล้วไซร้ หม่อมฉันจะสามารถดูแลคุ้มครอบพวกเขาได้อย่างไร ของทรงโปรดให้ความกระจ่างชัดในข้อนี้แก่หม่อมฉันด้วย”

“เป็นธรรมดาที่พระองค์จะทรงรักครอบครัวและพสกนิกรของพระองค์ แต่พระองค์ยังสามารถขยายขอบเขตไปพ้นจากครอบครัวพสกนิกร พระองค์ทรงรักทะนุถนอมพระโอรส พระธิดา แต่ความรักนั้นมิได้ขัดขวางพระองค์มิให้ทรงรักเยาวชนอื่นๆ ในพระราชอาณาจักร ในเมื่อทรงสามารถรักเยาวชนทั้งปวงได้ ความรักอันจำกัดของพระองค์ก็จะกลายเป็นความรักที่โอบอุ้มชนทั้งมวล และเยาวชนทั้งปวงในพระราชอาณาจักรก็จะเป็นดังลูกๆ ของพระองค์ นั่นคือความหมายของการมีหัวใจแห่งเมตตา-กรุณา นี่มิใช่เป็นเพียงความคิดเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงๆ โดยเฉพาะบุคคลประเภทเดียวกับพระองค์ที่มีสิ่งต่างๆ มากมายที่ต้องดูแลรับผิดชอบ...” (หน้า 110-112)

และเมื่อกล่าวถึงเรื่องราวความรักแล้ว ขอแนะนำให้ผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของธรรมะกับความรักลองหาหนังสือที่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ประพันธ์ขึ้นจากประสบการ์จริงของท่าน ซึ่งเป็นรักครั้งแรกของท่านที่เกิดขึ้นในวัยหนุ่มอายุยี่สิบสี่ วัยที่ท่านเป็นเพศบรรพชิตมาพระแล้วหลายปี ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือเรื่อง ปลูกรัก เพื่อแลกเปลี่ยนกับคนหนุ่มสาวให้เห็นถึงการมอง และแปรรูปความรักให้เป็นพลังในการปฏิบัติ ภาวนา โดยท่านได้นำคำสอนต่างๆ ของพระสูตรมหายานมาพิจารณาความรักของท่านได้อย่างลึกซึ้ง จนเข้าถึงความเป็นอิสระจากความรักอันลุ่มหลง ติดยึด และสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ในจิตแห่งรักที่แท้จริง

แค่เพียงบทเริ่มต้นพูดถึงความรักที่ท่านติช นัท ฮันห์เขียนไว้เริ่มต้นก็จับใจ ชวนให้อยากอ่านต่อถึงความรักที่ท่านมีต่อภิกษุณี การมองถึงความรัก ห้วงแห่งรัก และการจัดการต่อความรัก แต่ละบทแต่ละตอนลึกซึ้งและซื่อตรงต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของท่านอย่างชัดเจน

“ตอนอาตมาพบเธอ เธออายุยี่สิบปี เราทั้งคู่อยู่กันที่วัดรู้ตัวทั่วพร้อม บนที่ราบสูงในเวียดนาม...” (หน้า 6, ‘รักแรก’)

“...วันนี้ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรผิดไปจากเมื่อวาน แต่อาตมาเข้าใจความรู้สึกภายในของตน อาตมารู้ว่าอาตมารักเธอ อยากอยู่ใกล้เธอ อย่างนั่งใกล้ชิดเพ่งพิจาณาเธอ

คืนนั้นอาตมานอนไม่ค่อยหลับ วันรุ่งขึ้นหลังจากสวดมนต์และนั่งสมาธิแล้ว อาตมาชวนเธอไปก่อไฟในครัว วันนั้นอากาศหนาวและเธอก็ตอบตกลง เราดื่มน้ำชาด้วยกัน อาตมาพยายามจะบอกเธอว่าอาตมารักเธอ อาตมาพูดอะไรหลายอย่างแต่ไม่อาจพูดคำนี้ออกมาได้ พยายามพูดเรื่องอื่นๆ หวังว่าเธอจะเข้าใจ เธอตั้งใจฟังอย่างเห็นใจ แล้วเธอก็กระซิบตอบ “ดิฉันไม่เข้าใจที่ท่านพูดเลยสักคำ”

แต่วันต่อมาเธอบอกอาตมาว่าเธอเข้าใจ นี่เป็นเรื่องยากแล้วสำหรับอาตมา แล้วเธอล่ะมิยิ่งยากกว่าละหรือ ความรักของอาตมาเหมือนพายุ แล้วเธอก็ถูกพัดพาไปตามกำลังแรงของพายุนั้น เธอพยายามขัดขืนแต่สุดท้ายก็ยอมรับ เราต่างต้องการความเห็นอกเห็นใจ เรายังหนุ่มยังสาว ถูกพัดพาไปตามกระแสอารมณ์ แต่ความต้องการส่วนลึกของเราคือต้องการเป็นภิกษุเป็นภิกษุณี เพื่อกระทำสิ่งที่เธอหวังอยากทำมานาน แต่เราก็มาติดบ่วงความรักเสียแล้ว... (หน้า 16-17)

สิ่งที่ท่านติช นัท ฮันห์ปฏิบัติต่อจากนั้นคือการนำคำสอนต่างๆ ของพระสูตรมหายานมาพิจารณาความรักของท่านเพื่อทำความเข้าใจและก้าวพ้นจากการความรักจากยึดติดไปสู่ความรักแบบเมตตากรุณา

“...ความรักที่อาตมามีต่อเธอไม่ได้ลดน้อยลง แต่ตอนนี้มันไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนคนเดียว อาตมาสนับสนุนภิกษุและภิกษุณีนับร้อยๆ และจากนั้นมาเรามีสมาชิกเพิ่มเป็นพันๆ แต่ความรักนั้นก็ยังคงอยู่ อยู่อย่างแข็งแกร่งและไพศาลมากขึ้น...” (หน้า 51)

ใครที่กำลังตกอยู่ในความรู้สึกปั่นป่วนต่อความรัก ลุ่มหลง อยากให้หยิบ “ปลูกรัก” มาอ่าน เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจต่อความรักลงไปในจิตใจของคุณเพื่อการก้าวไปสู่ความรักที่กว้างกว่า และแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา

“โปรดมองลงไปในแม่น้ำชีวิตของเธอเอง มองให้เห็นลำธารมากมายที่ไหลมาหล่อเลี้ยงและส่งเสริมแม่น้ำนี้ ถ้าเธอปฏิบัติวัชรสูตรและเห็นตัวตนพ้นจากตัวตน เห็นบุคคลพ้นจากบุคคล เห็นสัตวะพ้นจากสัตวะ เห็นชีวะพ้นจากชีวะ เธอจะเห็นว่าเธอคืออาตมา และเธอก็คือเธอคนนั้นด้วย จงย้อนมองรักแรกของเธอเอง แล้วเธอจะเห็นว่ารักแรกของเธอไม่มีเริ่มต้น ไม่มีสิ้นสุด ทั้งหมดล้วนแปรสภาพตลอดเวลา...” (หน้า 52)*

------------------------

(* อ้างอิงเลขหน้าจากหนังสือ “ปลูกรัก” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2, 2541)

------------------------

ประวัติท่านติช นัท ฮันห์ โดยสังเขป

(จากหนังสือ สันติภาพทุกย่างก้าว)

ติช นัท ฮันห์ ถือกำเนิดในภาคกลางของประเทศเวียดนามเมื่อปี พ.ศ. 2469 และได้จากบ้านเมื่ออายุย่างเข้าวัยรุ่น โดยบวชเป็นพระในนิกายเซ็นในเวียดนาม ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแวนฮันห์ (Van Hanh Buddhist University) คณะเทียบหิน (คณะการดำรงอยู่ระหวางกันและกัน – Order of interbeing) ท่านได้สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยชอร์บอน ท่านเป็นประธานของคณะกรรมการชาวพุทธเวียดนามเพื่อสันติภาพให้กับการเจรจาสันติภาพกรุงปารีส (Vietnamese Buddhist Peace Delegetion to Pris) และได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดย มาร์ติน ลูเธอร์คิง เจอาร์ (Martin Luther King, Jr.) ตั้งแต่ปี พ.ศง 2509 ท่านได้ลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส สถานที่ที่ท่านยังคงเขียนหนังสือ สอนหนังสือ ทำสวน และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลก ท่านเป็นผู้เขียนหนังสือจำนวน 75 เล่มเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาเวียดนาม รวมทั้ง Being peace ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ และ The Sun my heart


รายละเอียดหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ปรากฏในบทความ

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

แปลโดย : พระประชา ปสนฺนธมฺโม

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

ราคา : 95 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 25, 2554)

สันติภาพทุกอย่างก้าว

แปลโดย : ประชา หุตานุวัตร, สุภาพร พงศ์พฤกษ์

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ศยาม

ราคา : 150 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 5, 2553)

สนใจ เคล็ดไทย

ปัจจุบันเป็นเวลาประเสิรฐสุด

แปลโดย : ส.ศิวรักษ์

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ศยาม

ราคา : 110 บาท

สนใจ เคล็ดไทย

ศานติในเรือนใจ

แปลโดย : ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

ราคา : 120 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 6, 2551)


ดวงตะวันดวงใจฉัน

แปลโดย : วิศิษฐ์ วังวิญญู

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ศยาม

ราคา : 90 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 3, 2554)

สนใจ เคล็ดไทย


ความโกรธ : ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ

แปลโดย : ธารา รินศานต์

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

ราคา : 150 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 5, 2553)

วิถีแห่งบัวบาน : บทภาวนาเพื่อการบำบัดและการเปลี่ยนแปร

แปลโดย : สุภาพร พงศ์พฤกษ์

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ศยาม

ราคา : 100 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 3, 2554)

สนใจ เคล็ดไทย

เดิน วิถีแห่งสติ

แปลโดย : รสนา โตสิตระกูล

สำนักพิมพ์ :

ราคา : ….. บาท


เพชรตัดทำลายมายา

แปลโดย : สดใส ขันติวรพงศ์

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ศยาม

ราคา : 120 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 4, 2554)

สนใจ เคล็ดไทย

คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ เล่ม 1

แปลโดย : รสนา โตสิตระกูล, สันติสุข โสภณสิริ

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

ราคา : …. บาท (พิมพ์ครั้งที่ ....)

คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ เล่ม 2

แปลโดย : รสนา โตสิตระกูล, สันติสุข โสภณสิริ

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

ราคา : 180 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 5, 2553)

คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ เล่ม 3

แปลโดย : รสนา โตสิตระกูล, สันติสุข โสภณสิริ

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

ราคา : 180 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 4, 2553)


ปลูกรัก

แปลโดย : สดใส ขันติวรพงศ์

สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ศยาม

ราคา : 130 บาท (พิมพ์ครั้งที่ 4, 2553)

สนใจ เคล็ดไทย