จดหมายถึงเพื่อน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

จดหมายถึงเพื่อน
เขียนโดย : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ


แม้จดหมายทุกฉบับที่รวบรวมในหนังสือเล่มนี้ เป็นจดหมายส่วนตัวที่กนกพงศ์ตั้งใจเขียน
ถึงเพื่อนนักเขียนด้วยกัน (หมายถึงขจรฤทธิ์ รักษา - -บก.หนังสือเล่มนี้) ก็ตาม
แต่เนื้อความและสิ่งที่กนกพงศ์เขียนบอกเล่ามุมมองของเขาต่อความเป็นไปทั้งในเรื่องของดินฟ้าอากาศ
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในแวดวงนักเขียนที่แวดล้อมเขาอยู่ เรื่องของหนังสือที่เขากำลังอ่านติดพัน
รวมไปถึงเรื่องราวความนึกคิดในจิตใจของเขาก็เป็นเสมือนบทบันทึกจากมุมมองและสายตาของเขา
ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง (ทั้งยังได้ก้าวเข้าไปสู่โลกส่วนตัวของเขาในบางเสี้ยวบางมุม)

กนกพงศ์ใช้จดหมายเป็นเครื่องผ่อนคลาย ผ่อนพักจากการทำงานเขียน เหมือนการซ้อมมือ
และหยุดความคิดเตลิดจากเรื่องอื่น ก่อนจะดิ่งลงสู่สมาธิอีกครั้งในการทำงาน
บ่อยครั้งเขาเล่าถึงหนังสือเล่มที่อ่านอยู่แล้วขบคิดกับมันเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักเขียนด้วยกัน
และที่น่าสนใจคือต้องยอมรับว่าเขาเป็นนักแนะนำหนังสือที่น่าคล้อยตามอย่างไม่ต้องสงสัยทีเดียว


“8 กรกฎาคม 2547
On Writing ของสตีเฟน คิงก์ให้ความรู้สึกคลุ้มคลั่งได้ดีเหลือเกินคุณอ่านหรือยัง
มีหลายจุดที่ผมไม่เห็นด้วย (แน่นอน เพราะผมเป็นนักเขียนคนละแนวกับเขา โดยเฉพาะในรายละเอียด)
แต่จุดใหญ่ใจความเมื่อกล่าวถึงงานเขียน-ศิลปะการเขียน มันเจ๋งเป้ง โดน
มีหลายหนที่เขากระหน่ำตรงจุดอ่อนของเรา (ของผม) เข้าเป้า สะทกสะท้าน ทั้งน่าพรั่นพรึงและถึงใจ
ผมอ่านไปได้สองร้อยกว่าหน้าแล้ว ยอมรับเลยว่าเกิดอาการพลุ่งพล่านอยากเขียนขึ้นมา
บอกไม่ได้หรอกครับว่ามีถ้อยคำไหนที่ไปฉุดความรู้สึกของผมเช่นนั้น คงเป็นโดยรวมทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้
ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้เราเขียน...เขียน...เขียน เป็นนักเขียนมันต้องเขียน
เขียนทุกวันและเขียนอย่างสนุก ยิ่งอ่านก็ยิ่งอายที่ไม่ได้กลับไปที่โต๊ะเขียนหนังสือสือเสียที
อยากเขียนเป็นบ้า แต่นั่นแหละทำยังไงได้ ลงมืออ่านไปแล้วก็ต้องยื้อจนจบ
พยายามข่มกดอารมณ์อยากเขียนเอาไว้ ขออีกวัน
ทนไม่ไหวจนต้องมาผ่อนคลายระบายความอัดอั้น ด้วยการเขียนจดหมายถึงคุณนั่นแหละ….”
(หน้า 87)


ข้อดีของหนังสือที่รวบรวมมาจากจดหมายคือ ทุกขณะที่เราอ่าน เรารู้สึกเหมือนกำลังได้สนทนา
แลกเปลี่ยนกับนักเขียน แม้เขาไม่ได้ตั้งใจแลกเปลี่ยนกับเราก็ตาม แต่เมื่อเราได้ลงมืออ่าน
การสื่อสารนั้นก็มาสู่เราโดยตรง ตัวต่อตัว และฉับพลันทันทีที่สายตาเรากระทบตัวหนังสือแต่ละหน้า
แต่ละประโยคแน่นอนว่า หลายเรื่องราวในนั้นเราอาจไม่เห็นด้วย จนถึงขนาดอยากถกเถียง
หรือแม้กระทั่งถกเถียงไปแล้วกับหน้าหนังสือที่เราเปิดอ่าน ขณะที่บางช่วงบางตอนเราอาจคล้อยตาม
ความคิดและสิ่งที่กนกพงศ์เล่าสู่กันฟัง จนต้องผงกหัวไปกับน้ำเสียงที่ส่งมา
และบ่อยครั้งทีเดียวที่เราอาจทอดถอนใจไปกับเรื่องราวที่กำลังรับรู้ และหนักใจไปพร้อมๆ กันกับเขา
สารเหล่านั้นจึงเหมือนส่งมาถึงเราโดยตรง และทำให้เราก้าวผ่านเรื่องราวของคนอื่น
ไปสู่การมองย้อนเพื่อคิดคำนึงถึงเรื่องราวของตัวเราเองแทบทุกฉบับที่เขียนขึ้น
และไม่น่าเชื่อว่าหลายตอนในหนังสือเล่มนี้ชักชวนเราเปิดประตูมองดูโลกกว้างข้างๆ ตัว
มองดูผู้คน และมองดูความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่รายล้อม และเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน
การเขียนจดหมาย จึงเป็นมากกว่าการลงมือพูดคุยกับใครสักคนผ่านตัวหนังสื
เพราะในอีกทางหนึ่งการเขียนจดหมายก็เป็นเหมือนการนั่งพูดคุยกับตัวเราเอง
ย้อนนึกทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และแต่ละจังหวะชีวิต

โดยภาพรวมแล้วเนื้อความในจดหมายสะท้อนให้เห็นว่ากนกพงศ์ทำงานอย่างหนักเพียงไร
ครุ่นคิดต่อฉาก มุม และรายละเอียดในชีวิตของผู้คนที่เห็นมากเพียงไร
หลายเรื่องแม้เป็นเรื่องส่วนตัวของกลุ่มคนในแวดวงที่ใกล้ชิดกับเขา ที่เขียนขึ้นด้วยอารมณ์คับข้องใจ
อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ออกจะกัด จิก เหน็บแนมมากเพียงไร
บก. ได้ปรับเปลี่ยนชื่อคนแทนคำว่า เพื่อนนักเขียน เพื่อนกวี พี่นักเขียน ฯลฯ)
แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้ระหว่างบรรทัดที่มองไม่เห็น คือความปรารถนาดีต่อแวดวงวรรณกรรมที่เขารักอย่างสุดใจ



“พวกเขาเชื่อว่าข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อมีข้อมูลแล้ว การเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องง่าย
นี่เป็นสิ่งที่เห็นแย้งกับผม แต่ผมจะไปคัดง้างพวกเขาอย่างไรครับ ในเมื่อผมเชื่อว่า
ข้อมูลเป็นองค์ประกอบในสัดส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์ของนิยายเรื่องหนึ่ง มากไปกว่านี้
มันก็จะแสดงตัวของมันออกมา กลายเป็นนิยายที่แข็ง แห้งแล้ง อีก 75 เปอร์เซ็นต์นั่นต่างหากที่สำคัญ
คือวิธีการเล่าเรื่อง วรรณศิลป์ ซึ่งสิ่งนี้ซ่อนอยู่ใต้บรรทัด ด้วยนักเขียนอาศัยจินตนาการ
ผูกโยงเรื่องราวขึ้น มันจึงไม่แสดงตัวออกมาให้นักอ่านได้เห็ แต่จริงๆ นักอ่านซึมซับมันอยู่ทุกขณะในการอ่าน
มันคือความลื่นไหลต่อเนื่อง ชักดึงอารมณ์ของนักอ่านไปสู่จุดหมาย...”
(หน้า 174)


“แต่ไม่ต้องห่วง แม้ผมจะมีความคิดและความรู้สึกกับวงวรรณกรรมเช่นนี้ ก็ไม่ได้หมายถึงท้ออะไร
ผมยังคงมีความตั้งใจและตั้งมั่น ในงานวรรณกรรมต่อไป มันจะขายได้ไม่ได้เราก็ต้องทำ
เพราะมันเป็นคำตอบสำหรับชีวิตเรา คือเขียนหนังสือ ผมนึกไม่ออกนะครับว่า
หากละจากการเขียนไปเสียแล้ว ผมจะตอบกับตัวเองอย่างไร เราเป็นอะไร
การเขียนจึงเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่...”
(หน้า 71)

และบางตอนในเนื้อความ ก็ทำให้เรายิ้มกับภาพที่เกิดขึ้น


...

“ไม่แน่ใจว่า ฉบับก่อนผมได้เล่าถึงชายคนที่มาอาบน้ำที่คลองในสวนผมที่กรุงชิงหรือเป่า
ที่แกบอกว่าต้องหาบน้ำจากในคลอง ปีนตลิ่งขึ้นรดมังคุดน่ะครับ ถึงตอนนี้ หากฝนตกที่กรุงชิงตกเหมือนที่นี่
ผมคิดว่า เสียงหัวเราะของแกน่าจะดังขึ้นไปถึงสวรรค์...”
(หน้า 190)

ใครที่คิดถึงตัวหนังสือของกนกพงศ์ “จดหมายถึงเพื่อน” น่าจะเป็นตัวแทนบางอย่าง
ที่มาช่วยคลายความรู้สึกนั้นลงไปได้บ้าง (รวมไปถึงงานหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่)
และหากใครที่ฝันอยากเป็นนักเขียน(ที่ดี)แนะนำว่าควรหามาอ่านโดยพลัน
จดหมายฉบับที่เขียนถึงงาน On Writing ของ สตีเฟ่น คิงก์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2547
นั้นกนกพงศ์จบท้ายจดหมายถึงเพื่อนหลังจากเล่าเรื่องบอลยูโรว่า


”ไปคุยกับสตีเฟน คิงก์ต่อเสียหน่อย
รัก
กนกพงศ์”

(หน้า90)

และเราเองก็คงได้เวลาไปคุยกับกนกพงศ์ต่อ...เช่นกัน

แนะนำโดย : สกุณี ณัฐพูลวัฒน์